15/11/2024

เชียงใหม่-ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ พร้อมดันเชียงใหม่นำร่อง ใช้ระบบบล็อคเชนเข้ามาช่วยเรื่องมาตรฐานสินค้าฮาลาล

เชียงใหม่-ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ พร้อมดันเชียงใหม่นำร่อง ใช้ระบบบล็อคเชนเข้ามาช่วยเรื่องมาตรฐานสินค้าฮาลาล
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานครบรอบ 20 ปี ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ถนนช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ร่วมต้อนรับผู้มาแสดงความยินดีทั้งภาครัฐและเอกชน

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งตามมติ ครม.ในวันที่ 13 สิงหาคม 2546 เนื่องจากคณะรัฐมนตรีต้องการขยายการส่งออกสินค้าฮาลาลจากประเทศไทยไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ ณ ช่วงเวลานั้นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 247 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งก็คือ 10,000 ล้านบาทในเวลานั้น แต่ว่าบังเอิญก่อนหน้านั้นประมาณ 2 ปี เกิดปัญหาที่ประเทศอินโดนิเซีย จากการปนเปื้อนสารที่ซับซ้อนมากในสินค้าอาหารฮาลาล ทางฝ่ายยุทธศาสตร์ของประเทศไทยก็เล็งเห็นว่าจะต้องนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของทางสภาพัฒน์ฯเพื่อยกระดับการรับรองสินค้าฮาลาลของประเทศไทย โดยเชิญทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุนเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้นประมาณ 8 ปี การส่งออกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 25 เท่า จาก 247 ล้านเหรียญสหรัฐฯขึ้นไปเป็น 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไปถูกทางโดยที่มีเรื่องของวิทยา
ศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ซึ่งจากนั้นในปี 2552 และ 2555
จัดตั้งสำนักงานสาขา ที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นมา
กรณีจังหวัดเชียงใหม่ จะถูกตั้งคำถามไว้มาก ทำไมมาตั้งที่เชียงใหม่ เราจึงอธิบายว่าฮาลาลไม่ใช่อาหารมุสลิมเพียงอย่างเดียว ฮาลาลคืออาหารที่ปลอดภัยสำหรับคนทั้งโลก แต่หากมีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็จะทำให้มีการขยายตลาดไปได้มาก

“จริงๆถ้าพูดถึงตลาดมุสลิมมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของตลาดโลก ครอบคลุมไปได้ 25 % ของตลาดโลก แต่ถ้าเรานับตลาดฮาลาลจะคลอบคลุมไปได้ 98% ของตลาดโลก ฮาลาลทุกคนทั่วโลกทานได้หมด ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอาร์เจนติน่า หรือประเทศอังกฤษ ก็ทานได้ ถ้าเราสร้างความเข้าใจได้มันจะขยายตลาดไปได้ดีสิ่งนี้เองที่ทำให้เราเปิดสำนักงานที่เชียงใหม่พราะว่าเราต้องการขยายตลาดไปทั้งโลก ซึ่งเชียงใหม่เองเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพมาก และ ผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ที่เชียงใหม่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เราก็มองว่ามาร่วมกับเรา ในเรื่องของการวางระบบที่มีความปลอดภัย ในเรื่องของฮาลาลไปด้วยกัน ดังนั้นในวาระครบคอบ 20 ปี เราก็จะนำเรื่องของฮาลาลและเทคโนโลยีมาประสานเข้าด้วยกัน”

ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอีกว่า ผู้คนที่เกี่ยวข้องในตลาดฮาลาลทั้งหมดร้อยละ 95 ไม่ใช่มุสลิม ผู้ประกอบการไม่ใช่มุสลิม เกษตรกรไม่ใช่มุสลิม คนที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมไม่ใช่มุสลิม นายทุนที่เข้ามาลงทุนไม่ใช่มุสลิม มุสลิมก็คือบรรดาโต๊ะอีหม่าม หรือกรรมการอิสลาม ที่จะเข้ามาช่วยรับรองว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ไม่ใช่ มุสลิมทำคนทั้งโลกบริโภคได้ ตลาดฮาลาลสินค้าทั้งหมดไม่ใช่อาหารเพียงอย่างเดียวมีมูลค่าถึง 4ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยได้เงินจากส่งออก6.1ล้านเหรียญสหรัฐฯถือว่าน้อยมากไม่ถึง1%เสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นตลาดยังมีพื้นที่อยู่มหาศาลที่ไทยเราจะเข้าไปได้รับประโยชน์ ต่อไปจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเป็นฐานสำคัญในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี โรงงานที่อยู่ในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดเราจะใช้ระบบบล็อคเชนเข้ามาช่วยโดยมีเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่อง

ด้าน ผศ.ดร.ภราดร กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ก็ก่อตั้งมาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว เราก็ทำกิจกรรมและร่วมขับเคลื่อนกับพันธมิตรทั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และในเรื่องของภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมมาช่วยผลักดันในเรื่องของการวางระบบมาตรฐานซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล รวมถึงการช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีมากกว่า 300 ผู้ประกอบการในการส่งออกไปยังตลาดมุสลิม

นอกเหนือจากนั้นเราก็ทำเรื่องการสร้างการรับรู้และพัฒนากำลังคนโดยเฉพาะน้องๆนักเรียน นักศึกษา ที่อาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลในอนาคต ให้เรียนรู้ถึงมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยวหรืออยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร และแม้กระทั่งอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารจำพวกเครื่องสำอางค์ ทั้งนี้เรื่องของฮาลาลในอนาคตยังมีอีกมากมาย เราจะต้องพัฒนานำดิจิตอลมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป