08/09/2024

กาฬสินธุ์-เตรียมเรียกสอบบุคคลในภาพเอี่ยวตัดไม้พะยูงในโรงเรียน

กาฬสินธุ์-เตรียมเรียกสอบบุคคลในภาพเอี่ยวตัดไม้พะยูงในโรงเรียน

ชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง จ.กาฬสินธุ์ เรียกสอบบุคคลในภาพ ซึ่งพบหลักฐานเอกสารและการนำนายทุนเข้าเจาะไม้ วัดไม้ สำรวจก่อนประมูล เป็นกลุ่มธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์-ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ให้นายอำเภอทำบันทึกตรวจสอบก่อนเรียกมาชี้แจง ระบุหลังลงพื้นที่ คณะครู ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน พบหลักฐานเกี่ยวพันกับการประมูลไม้ เผยสาเหตุโรงเรียนขายไม้เพราะถูกขู่ว่าจะตั้งกรรมสอบ หากไม้พะยูงหาย อีกทั้งหลงเชื่อว่าทำถูกระเบียบเพราะเจ้าหน้าที่รัฐแนะนำให้ทำ ขณะเดียวกันได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ย้ำประเทศไทยไม่มีนโยบายตัดไม้หวงห้ามในที่หลวงขาย ส่วนปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงที่โรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ตำรวจเร่งแกะรอยวงจรปิดตามตัวคนร้ายแล้ว
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา การตรวจสอบมีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 8 ราย และยังมีปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนจัดชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจ ส่วนชาวบ้านที่รักษ์ผืนป่าทยอยส่งหลักฐาน การประมูลไม้พะยูงตามโรงเรียนในเขต สพป.เขต 2 หลายแห่ง โดยปรากฏที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก และที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก มีการนำหลักฐานกล้องวงจรปิดจับภาพชายฉกรรจ์ 7 คน เข้าไปเจาะดูแก่นไม้พะยูง ภายในโรงเรียนโคกกลางเหนือพิทยา อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ และล่าสุด ยังเกิดเหตุคนร้าย 5 คนอาวุธครบมือ ลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ หน้าบ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอย่างอุกอาจ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
วันที่ 6 กันยายน 2566 ความคืบหน้าคดีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ ต.โนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.สุวรรณ์ เชี่ยวนาวินธวัช ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ชัยพร พงษ์ศักดิ์ รอง ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ เขาควบคุมคดีโดยตั้งทีมเฉพาะกิจ ตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ เข้าติดตามแกะรอยคนร้าย ตามกล้องวงจรปิด ถือเป็นเหตุที่อุกอาจไม่เกรงกลัวกฏหมาย ซึ่งได้กำชับให้ ตำรวจทั้ง 23 สถานี ทั้งจังหวัด ประสานกับทางอำภอ เพื่อร่วมเวรยามในการเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้การก่อนเหตุเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจาก ไม้พะยูง ถือเป็นไม้มงคลที่มีความต้องการของตลาดค้าไม้เป็นอย่างมาก อีกทั้งในภาคอีสานโดยเฉพาะที่จ.กาฬสินธุ์ รายงานแจ้งว่ายังมีปริมาณไม้พะยูงอยู่ จึงเป็นที่หมายปองของกลุ่มพ่อค้าไม้ ทั้งนี้ตำรวจจะทำหน้าที่ป้องกันและจับกุมให้ดีที่สุด
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายอดิสร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กส. 1 (ดงมูล) ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุตัดไม้พะยูงโรงเรียนขาย 2 แห่ง ที่โรงเรียนหนองโนวิทยา ต.หัวหิน และโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 ซึ่งเป็นการตรวจสอบทั้งเอกสาร และสอบปากคำผู้บริหารโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และชาวบ้าน ในประเด็นก่อนและหลังการขออนุญาต การเปรียบเทียบราคาจากการประเมินปริมาตรไม้ที่ขายไป โดยมีตอไม้พะยูง ภาพถ่ายก่อนตัด และใบเสร็จรับเงินขายไม้เป็นหลักฐาน
ในการตรวจสอบ พบหลักฐานยืนยันตัวบุคคล ในการเข้ามาเป็นผู้ประสานงานตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ โดยปรากฏตัวและมีภาพถ่ายประกอบ ทั้งในส่วนของการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสถานศึกษา การเข้ามาตรวจวัดปริมาตรไม้พะยูง การประเมินราคาขาย การลงชื่อรับรองเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ระบุว่าเป็นคนของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ชื่อ “สันติ” นอกจากนี้จากการตรวจสอบความเหมาะสมในการตัดยังพบพิรุธ ทั้งขั้นตอนก่อนและหลังถูกตัดขาย บางต้นเหมือนมีการสร้างสถานการณ์ โดยไปสร้างห้องน้ำอยู่ใต้ร่มไม้พะยูง ก่อนทำการตัดไม้พะยูง ขณะที่ไม้ประเภทอื่น เช่น สะเดา ประดู่ ซึ่งมีความเสี่ยงจะล้มทับสิ่งปลูกสร้างกลับไม่ตัด เพราะ “ไม่ใช่ไม้พะยูง” โดยเฉพาะในส่วนของราคาซื้อขายที่ต่ำและแตกต่างกันมาก กับราคากลางหรือราคาประเมินตามมาตรฐานป่าไม้ประมาณ “30-50 เท่าตัว”
นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนประมูลขาย โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ ทำการตรวจสอบขั้นตอน ว่าปฏิบัติถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่ รวมทั้งยังมาให้กำลังใจฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ ซึ่งทำหน้าที่เข้าเวรยาม ตรวจตรา ทรัพยากรต้นไม้ ตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดทั้งให้กำลังใจคณะครู นักเรียน ในโอกาสเดียวกันอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้สอบถามผู้บริหารโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาและชาวบ้าน ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขออนุญาตตัดไม้พะยูงขาย และทำการตรวจวัดปริมาตรไม้ เพื่อประเมินราคาตามหลักการมาตรฐานของกรมป่าไม้ ซึ่งรายละเอียดอื่นๆ เช่น มีการฝ่าฝืนคำสั่ง กระทำการผิดกฎหมายหรือไม่ หรือมีบุคคลใดเกี่ยวข้องอย่างไร ก็จะได้มีการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป
“เบื้องต้นพบว่าการประมูลไม้พะยูงขาย ถือว่าผิดกฏหมายทุกขั้นตอน เป็นการปฏิบัติผิดข้อสั่งการของทางจังหวัด รวมถึงข้อสั่งการตามหนังสือของกรมธนารักษ์ เลขที่ กค 0305/ว20 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 จึงได้สั่งการให้นายอำเภอห้วยเม็ก ทำการสอบสวนรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรระบุตัวบุคคล ซึ่งพยานระบุว่าชื่อ “สันติ” เป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ รวมถึง นายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ให้มาอธิบายถึงเหตุผลในการประมูลไม้ขายทั้งหมด ภายในสัปดาห์นี้
ด้านนายอดิสร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับการประเมินราคาไม้ในโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ที่มีการซื้อขาย 9 ต้น ราคา 104,000 บาท แต่จากการประเมินวันนี้พบว่า หากมีการซื้อขายกันในท้องถิ่นจะได้ราคาประมาณ 600,000 บาท ขณะที่ประเมินตามราคามาตรฐานกรมป่าไม้ 1,512,750 บาท ส่วนไม้พะยูงโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น ซึ่งมีขนาดลำต้นสูงใหญ่ จากหลักฐานซื้อขายเพียง 30,000 บาท แต่จากการประเมินวันนี้ หากซื้อขายกันในท้องถิ่นจะได้ราคาประมาณ 800,000 บาท หรือราคามาตรฐานกรมป่าไม้สูงถึง 2,232,000 บาททีเดียว จึงเห็นว่าราคาแตกต่างกันมาก
การลงตรวจสอบโดยชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ครั้งนี้ ยังได้ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับคำสั่งห้ามตัดไม้หวงห้ามของ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และนำหนังสือของกรมธนารักษ์ เลขที่ กค 0305/ว20 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เกี่ยวกับกฎ ข้อห้ามการตัดไม้พะยูงและไม้หวงห้ามอื่นๆ ซึ่งมีรายละเอียดกำกับชัดเจนทุกขั้นตอนพบว่าสิ่งที่โรงเรียนปฏิบัตินั้นไม่สามารถกระทำได้ เป็นการทำการละเมิดและผิดกฏหมาย ทำให้หลายคนที่รับฟังอุทานออกมาว่า “ถูกหลอก” ให้ตัดไม้พะยูงขาย โดยยืนยันว่าคนที่เข้ามาแนะนำมาจาก 2 ส่วนคือ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และคนของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ชื่อ “สันติ” และพร้อมที่จะมาชี้ตัวว่าใครบ้างเป็นคนพาขายไม้
แหล่งข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้บริหารคณะกรรมการโรงเรียน และชาวบ้าน จากโรงเรียนหนองโนวิทยาคมและโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ยังระบุตรงกันว่าคนของธนารักษ์ชื่อ “สันติ” ยังบอกว่า หากไม่อยากให้คนร้ายมาลอบตัดไม้พะยูงอีก ก็ให้ส่งเรื่องขออนุญาตกับเขตพื้นที่การศึกษา ตนจะเป็นคนดูแลให้ หากมีอะไรเกิดขึ้น จะรับผิดชอบเอง โดยเฉพาะที่โรงเรียนคุรชนประสิทธิ์ศิลป์ ซึ่งไม่มี ผอ.โรงเรียน มีแต่ครูน้อย และเคยเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียนบ่อยครั้ง อีกทั้ง ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 มีความคิดตรงกันกับคนของธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้อนุญาต การตัดไม้พะยูงในโรงเรียน จึงเชื่อว่าทำได้ถูกต้อง ก็เลยปล่อยให้เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้นายทุนเข้ามาตัดไม้พะยูงในโรงเรียนขาย โดยทางเขตเป็นผู้ได้รับเงินไปทั้งหมดไม่มีเงินเข้าโรงเรียน ตามเอกสารประกอบในใบเสร็จรับเงิน
พฤติกรรมที่เกิดขึ้น จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าคืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์และกรมธนารักษ์ ที่มีเจตนารมณ์อนุรักษ์ทรัพยากรต้นไม้ในที่ราชพัสดุ ให้ความร่มรื่นและร่มเงาแก่ครู เด็กนักเรียน และป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อชดเชยผืนป่าธรรมชาติทั่วไปที่เสื่อมโทรม อย่างไรก็ตาม ทางด้านฝ่ายความมั่นคง ยังได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ผู้ที่มีใจรัก หวงแหน ไม้พะยูง ที่ร่วมกันปลูกมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ ว่ายังมีเหตุลักลอบตัดและขายไม้พะยูงในโรงเรียนอีกหลายแห่ง ซึ่งจะได้มีการติดตามรายงานผลต่อไป อย่างไรก็ตาม จากคำสั่งการของนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และมอบหมายนายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ครูน้อย ชาวบ้าน นักเรียน ดีใจ ว่าภาครัฐมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาและกำลังดำเนินการตรวจสอบภายใน เพื่อกระชากหน้ากากคนของรัฐ ที่ทำตัวเป็นหนอนบ่อนไส้ ใช้ช่องว่างกฎหมายขายทรัพย์หลวงมาลงโทษต่อไป