เชียงใหม่-คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวนวัตกรรม Wheel-B
คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวนวัตกรรม Wheel-B : แพลตฟอร์มการจัดการโลจิสติกส์การบอกตำแหน่งเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยใช้ชื่อว่า“อยู่ไหน 3 มิติ” Wheel-B
วันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2566 เวลา 09.30 -11.00 น.ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเรียนและปฏิบัติการ 50 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวเปิดการแถลงข่าว เปิดตัวนวัตกรรม Wheel-B ใช้แพลตฟอร์มการจัดการโลจิสติกส์ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ประยุกต์ใช้บริการบอกตำแหน่ง โดยใช้ชื่อว่า “อยู่ไหน 3 มิติ” โดยความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการ เปลี่ยนจากระบบโทรศัพท์เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในสโลแกน “ถูกคน ถูกที่ ทันเวลา”
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้มีนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรม
เป็นอย่างดี เพื่อให้องค์กรได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ เชิงนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ได้จริง และนับว่าโชคดีมากที่สามารถผลักดันให้งานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มช. ออกสู่สังคม และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ในการคิดค้นแพลตฟอร์มการจัดการโลจิสติกส์ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ประยุกต์ใช้บริการบอกตำแหน่ง
โดยใช้ชื่อว่า “อยู่ไหน 3 มิติ” (Wheel-B) ที่สามารถลดความสูญเสีย ของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การจดบันทึก เพื่อป้องกันความผิดพลาดของการทำงาน และเพื่อให้หัวหน้าศูนย์เปลสามารถจัดการดำเนินงานได้ดีขึ้น เช่น รู้ข้อมูลตำแหน่ง และสถานะของพนักงาน และอุปกรณ์ ได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้การบริหารการจัดการได้ข้อมูลละเอียด และทันท่วงที ทราบการวิเคราะห์เชิงประสิทธิภาพ เพื่อการปรับปรุงเชิงนโยบาย สามารถขยายระบบเพื่อจัดการโลจิสติกส์ ในการเคลื่อนย้ายอื่น ๆ ได้
ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าระบบนิเวศในการวิจัยนวัตกรรมของคณะแพทยศาสตร์ มช. จะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเป็นแรงผลักดันให้คุณภาพชีวิต ความคล่องตัวในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น”
ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “นวัตกรรมนี้ เป็นแพลตฟอร์มการจัดการโลจิสติกส์ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มการจัดการโลจิสติกส์โรงพยาบาล-ผู้ป่วย-การขนส่ง ด้วยการประยุกต์ใช้บริการตามตำแหน่ง โดยใช้ชื่อว่า “อยู่ไหน 3 มิติ” (3D UNAI) หรือ โปรแกรม Wheel-B (Wheel = ล้อเข็น B = Bed เตียงนอน) เป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับงบประมาณหลักในการจัดทำโครงการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.
เพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการ หรือ pain point ของหน่วยรับส่งผู้ป่วย งานบริการกลางโรงพยาบาลซึ่งในการให้บริการแบบเดิมนั้น ผู้ขอใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น หอผู้ป่วย ห้องตรวจ หรือหน่วยตรวจ ต้องโทรศัพท์ประสานมายังหน่วยรับส่งผู้ป่วยหรือหน่วยเปล ผ่านหัวหน้าเวรเปล ซึ่งต้องมีการบันทึกลงสมุดสถิติ และสามารถโทรศัพท์เข้ามาได้เพียงครั้งละ 1 สายเท่านั้น ในกรณีต้องการรับบริการเร่งด่วน จะไม่สามารถโทรฯ ใช้บริการได้ ทำให้เกิดปัญหากระจุกภาวะ “คอขวด” อีกทั้ง ในภาวะเร่งรีบของการบันทึก
ของหัวหน้าเวรเปล อาจเกิดการบันทึกที่ไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดการมอบหมายงานให้พนักงานคลาดเคลื่อนได้ เมื่อพนักงานเปลออกบริการรับผู้ป่วยก็ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะตรวจสอบว่าไปรับใคร รับที่ไหน และ
ใช้พาหนะอะไร นอกจากนี้แล้วการให้บริการระบบเดิม หน่วยเปลจะไม่ทราบภาระงานล่วงหน้า ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการอัตรากำลัง โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน อีกทั้งผู้ใช้บริการและหัวหน้าเวรเปล ไม่ทราบความก้าวหน้าของการให้บริการผู้ป่วยแต่ะละราย และการจัดเก็บข้อมูลและสถิติไม่เป็นระบบ ยากต่อการค้นหาและยากต่อการบริหารอัตรากำลังอีกด้วย”
ด้าน รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้อธิบายระบบการทำงานของนวัตกรรม Wheel-B ว่า “นวัตกรรมนี้เป็นกระบวนการเชิงการพัฒนา การวิเคราะห์งานเพื่อแก้ปัญหา โดยได้มีการวางหลักการทำงานของโปรแกรม Wheel-B ดังนี้แบบฉบับที่หนึ่ง ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้ร้องขอใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยการเข้าlog in ใช้ user และ password ของหน่วยงานตนเองที่จัดเตรียมให้ โดยนำข้อมูลที่ต้องการรับบริการ ได้แก่ ชื่อ-สกุล ผู้ป่วย เลขที่โรงพยาบาล (ใส่ข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง) ขอใช้บริการจากจุดของตัวเองไปยังจุดอื่น วันเวลาที่ต้องการใช้บริการ ประเภทความเร่งด่วนการเคลื่อนย้าย (เร่งด่วน-สีแดง กึ่งเร่งด่วน-สีเหลือง และไม่เร่งด่วน-สีเขียว) รายละเอียดพิเศษผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคติดเชื้อดื้อยา หรืออื่น ๆ ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อุปกรณ์หรืออื่น ๆ ที่ติดมากับผู้ป่วย รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่เพิ่มเติม เช่น ให้เอกซเรย์ก่อนขึ้นนอนบนหอผู้ป่วย รวมถึงข้อความระวังพิเศษในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อให้ทางหน่วยเปลได้รับทราบ ในการเตรียมพร้อม
ขั้นตอนต่อไป เมื่อหัวหน้าเวรเปล รับทราบข้อมูลผ่านระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำการจ่ายงานให้พนักงานเปลที่ว่างงาน (ปุ่มเขียว) จากปุ่มสีหลังชื่อพนักงานละคน (ปุ่มเขียว-ว่างงาน ปุ่มแดง-กำลังทำงาน ปุ่มส้ม-กำลังกลับฐาน ปุ่มม่วง – พักรับประทานอาหาร/ทำธุระส่วนตัว หรือพัก ปุ่มดำ-เวรหยุด) โดยเลือกในกลุ่มผู้ป่วยเร่งด่วน (สีแดง) เป็นลำดับแรก และพิจารณาผู้ป่วยกึ่งเร่งด่วน (สีเหลือง) และผู้ป่วยไม่เร่งด่วน (สีเขียว) ตามลำดับ
หลังจากนั้น พนักงาน กดรับงานผ่าน Application บนโทรศัพท์มือถือ 1 คนต่อ 1 user ทำการสแกน QR code 3 ครั้ง ดังนี้ เมื่อเดินทางถึงสถานที่รับผู้ป่วย, เมื่อไปถึงตัวผู้ป่วย และเมื่อเดินทางไปถึงสถานที่ส่งผู้ป่วย, เมื่อทำการสแกนแต่ละครั้ง ระบบจะทำการบันทึกเวลาที่สแกนโดยอัตโนมัติ ถือเป็นการสิ้นสุดงานในแต่ละขั้นตอน ทั้งนี้ พนักงานเปล สามารถบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรับส่งผู้ป่วยได้ด้วย เช่น รอลิฟต์ ผู้ป่วยไม่พร้อมเคลื่อนย้าย หรือผู้ป่วยมีอาการระหว่างการเคลื่อนย้าย และทางหน่วยงานที่ร้องขอบริการก็สามารถให้ “ดาว” โดยมี 5 ดาว ให้เลือก เพื่อประเมินความพึงพอใจในการให้บริการได้ พร้อมกับข้อเสนอแนะหรือคำชม โดยบันทึกในระบบ และสามารถบันทึกย้อนหลังได้ แบบฉบับที่หนึ่งนี้ มีหน่วยงานที่เข้าโครงการ 15 หน่วยงาน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
แบบฉบับที่สอง ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต ซึ่งอธิบายได้ว่า อินเทอร์เน็ตให้การเข้าถึงกับทุกคน ในขณะที่อินทราเน็ตอนุญาตให้ตรวจสอบสิทธิ์ผู้ใช้เท่านั้น กระบวนการทำงาน มีการขยายเพิ่มหน่วยงานที่รับบริการจาก 15 หน่วยงาน เป็น 162 หน่วยงาน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโรงพยาบาลโดยปรับปรุงแบบฉบับที่ 1 ให้พร้อมใช้จำนวน 16 ครั้ง และพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กัน โดยรับฟังเสียงจากผู้ใช้โปรแกรมทั้งส่วนหอผู้ป่วย ห้องตรวจ หน่วยตรวจ และหน่วยรับส่งผู้ป่วย
หลังจากนั้นทดลองใช้ระบบ GPS มาติดกับล้อเข็น และเปลเข็น เพื่อทราบพิกัดของพาหนะ ในการให้บริการผู้ป่วย โดยติด GPS 200 ตัว และตัวรับสัญญาณ 20 ตัว โดยเลือกบริเวณที่มีผู้ป่วยใช้บริการมาก เช่น อาคารสุจิณฺโณ หน้าห้องตรวจ OPD หน้าห้องฉุกเฉิน หน้าแผนกเอกซเรย์ เป็นต้น
ทิศทางในอนาคต แบบฉบับ 2+ (สองบวก) จะพัฒนาการใช้ระบบ GPS ติดกับพาหนะทุกตัว และขยายพื้นที่การให้บริการให้ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการรออุปกรณ์ และต่อยอด
การใช้ GPS กับอุปกรณ์การแพทย์ที่มีราคาสูง เพื่อหาตำแหน่ง กรณีที่ต้องการใช้อย่างเร่งด่วน โปรแกรม Wheel-B สามารถติดตามความก้าวหน้าในการทำงานแบบปัจจุบัน (real time) สามารถคำนวณสถิติการให้บริการรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ทราบภาระงานที่ให้บริการทั้งในอนาคต และ สามารถสืบค้นข้อมูลย้อนหลังโดยง่าย และทำให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพสูงสุด ก่อประโยชน์สำหรับผู้ใช้บริการ โดยรับส่ง
ถูกคน ถูกสถานที่ และทันเวลา เพื่อพัฒนาการให้บริการก้าวสู่โรงพยาบาลในดวงใจ”
พัฒนชัย/เชียงใหม่