23/12/2024

ขอนแก่น-สวนสัตว์ขอนแก่น ตรวจสุขภาพฟันและรักษาช่องปาก “นำโชค” ฮิปโปโปเตมัส พร้อมเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นายสัตวแพทย์รุ่นใหม่ และ นักศึกษาฝึกงาน

ED39A574-0A16-4E1F-8105-24EF9E31A676

ขอนแก่น-สวนสัตว์ขอนแก่น ตรวจสุขภาพฟันและรักษาช่องปาก “นำโชค” ฮิปโปโปเตมัส พร้อมเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นายสัตวแพทย์รุ่นใหม่ และ นักศึกษาฝึกงาน
สวนสัตว์ขอนแก่น ตรวจสุขภาพฟันและรักษาช่องปาก “นำโชค” ฮิปโปโปเตมัส หลังพบเขี้ยวข้างล่างทั้งสองข้างยาว ทิ่มแทงเหงือกด้านบน ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นายสัตวแพทย์รุ่นใหม่ และนักศึกษาฝึกงาน
.
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 สวนสัตว์ขอนแก่น จัดให้นายสัตวแพทย์เข้ารักษาช่องปากของ “นำโชค” ฮิปโปโปเตมัส สวนสัตว์ขอนแก่นหลังพบเขี้ยวข้างล่างทั้งสองข้างยาว ทิ่มแทงเหงือกด้านบน “นำโชค” ฮิปโปโปเตมัส เพศผู้ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 ปัจจุบันอายุ 18 ปี ย้ายมาจากสวนสัตว์นครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558 ปัจจุบัน สวนสัตว์ขอนแก่น มีฮิปโปโปเตมัสจำนวน 4 ตัว เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 2 ตัว ฮิปโปโปเตมัส ลักษณะเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างกลมใหญ่เทอะทะ และมีปากกว้างมาก เขี้ยวล่างยาวโค้งเป็นอาวุธสำคัญประจำตัว สังเกตเห็นเส้นขนได้บริเวณรอบปาก และใกล้กับปลายหาง ส่วนลำตัวเมื่อมองดูแล้วคล้ายกับไม่มีขน แต่ที่จริงแล้วลำตัวของฮิปโปโปเตมัส มีขนเส้นที่เล็กมากๆ และกระจายอยู่ห่างๆ กัน หนังหนามีต่อมเมือกใต้ผิวหนังจะผลิตเมือกเหลวออกมา เมื่อโดนแสงแดดจะค่อยๆกลายเป็นเมือกสีแดงอ่อนคล้ายเลือด ฮิปโปโปเตมัสอาศัยในทวีปแอฟริกา อูกันดา ซูลูแลนด์ตอนเหนือ ทรานสวาลล์ เคนยา เซเนกัล อาหารฮิปโปโปเตมัสกินหญ้า พืชน้ำ ใบไม้ ลูกไม้ และพืชผลต่างๆ พฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปกติชอบอยู่ในน้ำในตอนกลางวันและขึ้นบกมาหากินตอนกลางคืน ทนต่อความหนาวได้ดี ชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งหรือน้ำไหลเอื่อย ๆ ปกติไม่ดุ แต่ในช่วงผสมพันธุ์ตัวผู้จะต่อสู้กันอย่างดุร้าย จะดุเวลาตกใจหรือได้รับบาดเจ็บ และแม่ลูกอ่อนจะดุมาก ดำน้ำเก่ง สามารถเดินท่องอยู่ใต้น้ำได้ สถานภาพในปัจจุบันสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์

นายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น กล่าวว่า สวนสัตว์ขอนแก่น ได้มีการตรวจรักษาช่องปากฮิปโปโปเตมัส ชื่อ “นำโชค” เนื่องจากได้พบว่ามีการกินอาหารน้อยลง โดยพบว่ามีเขี้ยวข้างล่างทั้งสองข้างยาว และทิ่มแทงเหงือกด้านบนทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะในการเคี้ยวอาหาร จึงได้ดำเนินการรักษาโดยการตัดเขี้ยว ให้ “นำโชค” ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยทำการตัดเขี้ยว ด้านล่างซ้ายขนาดความยาว 13 เซนติเมตร ด้านล่างขวาขนาดความยาว 11เซนติเมตร ด้านบนซ้ายขนาดความยาว 4 เซนติเมตร ด้านบนขวาขนาดความยาว 5เซนติเมตร ซึ่งในปฏิบัติการรักษาดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากนายสัตวแพทย์ จากสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เข้ามาร่วมในการรักษาช่องปากให้ “นำโชค” ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และในการรักษาช่องปาก “นำโชค” ในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่ความรู้ทักษะ และประสบการณ์ ในการรักษาให้แก่นายสัตวแพทย์รุ่นใหม่ และนักศึกษาฝึกงานที่เข้ามาเรียนรู้ภายในสวนสัตว์ขอนแก่น ซึ่งเป็นประสบการณ์จริงที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในรั้วมหาวิทยาลัย สวนสัตว์ขอนแก่นจึงอยากจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมความน่ารักของ “นำโชค” พร้อมครอบครัวได้ที่สวนสัตว์ขอนแก่นได้ทุกวัน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป