เพชรบูรณ์ ติดตามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเตรียมขอฝนเทียมช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์เอลนีโญ
เพชรบูรณ์ ติดตามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเตรียมขอฝนเทียมช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์เอลนีโญ
25 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย คณะทำงานประเมินและติดตามสถานการณ์ อุทกภัย ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากสถานการณ์เอลนีโญ ลงพื้นที่ประเมินและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากสถานการณ์เอลนีโญ ในพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ อำเภอบึงสามพัน และอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี นายอำเภอวิเชียรบุรี นายอำเภอศรีเทพ นายอำเภอบึงสามพัน นายอำเภอหนองไผ่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ารายงานสถานการณ์ ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ฝนแล้ง และฝนทิ้งช่วง
โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการประเมินสถานการณ์ และการเตรียมการรับมืออุทกภัย ฝนแล้ง และฝนทิ้งช่วง จากสถานการณ์เอลนีโญ ในเขตพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ อำเภอบึงสามพัน และอำเภอหนองไผ่ พร้อมติดตามข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ฝนแล้ง และฝนทิ้งช่วง จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และด้านการเกษตร ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี หลังประสบปัญหาระบบประปาในพื้นที่ไม่ไหล
นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า คณะทำงานประเมินและติดตามสถานการณ์ อุทกภัย ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากสถานการณ์เอลนีโญ ได้เชิญนายอำเภอวิเชียรบุรี นายอำเภอศรีเทพ นายอำเภอบึงสามพัน นายอำเภอหนองไผ่ มาสอบถาม สถานการณ์ อุทกภัย ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อประเมินสถานการณ์ พบว่าปัจจุบันเริมมีภาวะขาดแคลนน้ำบ้างในบางพื้นที่ โดยนายอำเภอในพื้นที่และผู้นำท้องถิ่นได้แก้ไขปัญหาในเบื้องต้นแล้ว แต่ในภาพรวมทั้งจังหวัดจากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม โดยการเพิ่มปริมาณฝนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วยวิธีฝนเทียม ซึ่งในปัจจุบันเราได้ทำหนังสือแจ้งอธิบดีกรมฝนหลวงแล้ว รอการตอบรับว่าสามารถทำได้เมื่อไรหรือติดขัดอะไร โดยในเบื้องต้นทราบว่าอาจติดขัดในเรื่องงบประมาณ ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ มีงบป้องกันและยับยั้ง แต่ต้องปฏิบัติไปตามระเบียบและกฏหมาย ในส่วนนี้ก็จะนำไปปรึกษากับกรมฝนหลวงว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
ด้านนายไกรสร ชัยมีแรง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า พื้นที่ หมู่ที่ 5 ตำบลท่าโรง มีประชากรประมาณ 500 ครัวเรือน 1,800 คน เดิมประชาชนใช้น้ำ อุปโภคบริโภค จากน้ำผิวดิน แต่จากสถานการณ์ เอลนีโญ ทำให้น้ำผิวดินไม่เพียงพอต่อการใช้ของประชาชนในพื้นที่ คณะทำงานประเมินและติดตามสถานการณ์ อุทกภัย ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากสถานการณ์เอลนีโญ อำเภอวิเชียรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนโดยหาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่มาใช้ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้แล้ว โดยคาดว่าปริมาณน้ำจะสามารถใช้ได้ถึงสิ้นเดือนเดือนกันยายน 2566