คณะนักร้องประสานเสียง แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลระดับนานาชาติ 2รางวัล ที่ สาธารณรัฐอิตาลี
คณะนักร้องประสานเสียง แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลระดับนานาชาติ 2รางวัล ที่ สาธารณรัฐอิตาลี
คณะนักร้องประสานเสียง แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล (MU Choir) ได้เข้าร่วมการแข่งขันการขับร้องประสานเสียงระดับนานาชาติในปีนี้ 2 รายการ ได้แก่ 57th International Competition of Choral Singing 2023 ณ เมือง Spittal an der Drau สาธารณรัฐออสเตรีย และรายการ 5th Leonardo Da Vinci International Choral Festival ณ เมือง Florence สาธารณรัฐอิตาลี
โดยได้รับรางวัล ดังนี้
1. รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง (Gold Medal) และประกาศนียบัตรระดับเหรียญทอง (Gold Diploma)
ใน Category E “Chamber Choirs, Vocal and Instrumental Ensembles” ด้วยคะแนน 86.29 ในรายการแข่งขัน 5th Leonardo Da Vinci International Choral Festival ณ สาธารณรัฐอิตาลี
2. รางวัลรองชนะเลิศอับดับ 2 เหรียญทองแดง (Bronze Medal) และประกาศนียบัตรระดับเหรียญเงิน (Silver Diploma) ใน Category C “Youth and University Choirs” ด้วยคะแนน 84.47 ในรายการแข่งขัน 5th Leonardo Da Vinci International Choral Festival ณ สาธารณรัฐอิตาลี
3. เข้ารอบชิง Grand Prix ในรายการแข่งขัน 5th Leonardo Da Vinci International Choral Festival
ณ สาธารณรัฐอิตาลี
ประเภทการแข่งขันรวมทั้ง 2 รายการ ได้แก่
1. ประเภทเพลง Folk Song.
2. ประเภท Choral Works. (เพลงบังคับ และเลือก)
3. ประเภท Chamber Choirs, Vocal and Instrumental Ensembles.
4. ประเภท Youth and University Choirs. โดยที่ทางคณะนักร้องประสานเสียง แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล (MU Choir) ได้คัดเลือกบทเพลง เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย 3 บทเพลง ได้แก่
1.เพลงลาวดวงเดือน (Lao Duang Dueuan) ประพันธ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เรียบเรียงโดย นายแพทย์กิตติพร ตันตระรุ่งโรจน์ เป็นบทเพลงที่กล่าวถึงกลิ่นอายความรักของชายหญิงในสมัยไทยโบราณที่มีการคิดถึงและเปรียบเปรยกับสิ่งต่าง ๆ
2.เพลงผู้ใหญ่ลี (Phu Yai Lee) ประพันธ์โดย พิพัฒน์ บริบูรณ์ เรียบเรียงโดย ไกวัล กุลวัฒโนทัย เป็นเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตของชาวบ้านแถบชนบทในช่วง พ.ศ.2504 ซึ่งตัวบทเพลงเป็นการกล่าวถึงแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ซึ่งเป็นลักษณะการเสียดสีทางการในเรื่องการใช้ภาษาราชการที่ยากต่อการเข้าใจอย่างคำว่า “สุกร”ที่แปลว่า หมู แต่ในบทเพลงตัวละคร ผู้ใหญ่ลี ตีความคำว่า สุกร แปลว่า สุนัข หรือ หมา ซึ่งตัวบทเพลงจะแทรกถึงความสนุกสนานไปในตัว
3.เพลงลอยกระทง (Loy Krathong) ประพันธ์โดย แก้ว อัจฉริยะกุล เรียบเรียงโดย ไกวัล กุลวัฒโนทัย เป็นบทเพลงที่ถือว่าเป็นเพลงประจำเทศกาลสำคัญของไทย อย่างเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในช่วงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคาตามความเชื่อโบราณ ซึ่งในตัวบทเพลงจะกล่าวถึงความสนุกสนานของเทศกาล ซึ่งทางคณะนักร้องฯ ได้ขับร้องประกอบท่ารำวง เพื่อเพิ่มความสนุกสนานของตัวบทเพลงด้วย
อีกทั้งทางคณะนักร้องประสานเสียง MU Choir ได้นำบทเพลงที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ชาวไทย
อีก 1 บทเพลง คือ Echo of the Mountains ซึ่งประพันธ์โดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตัวบทเพลงจะประกอบด้วยคำว่า “ภูเขา” ในภาษาต่างๆ ในเอเชีย เปรียบเสมือนการพูดคุยสนทนาระหว่างภูเขาแต่ละลูก และการถ่ายทอดอารมณ์ทั้ง 3 ช่วงเวลา คือ เช้า กลางวัน และกลางคืน
นอกจากนี้ในการแข่งขันดังกล่าวทั้งสองรายการคณะนักร้องฯ ได้รับคำชื่นชม และความประทับใจจากผู้ชมอย่างล้นหลาม อีกทั้งได้รับคำชื่นชม และมิตรภาพที่ดีจากเพื่อนวงขับร้องประสานเสียงอื่น ๆ ที่มาร่วมการแข่งขันในรายการดังกล่าว
เจนกิจ นัดไธสง รายงาน