21/09/2024

กาฬสินธุ์-อึ้งเขตการศึกษาจับมือธนารักษ์ตัดไม้พะยูงโรงเรียน 22 ต้นอ้างหาเงินเข้าหลวง

กาฬสินธุ์-อึ้งเขตการศึกษาจับมือธนารักษ์ตัดไม้พะยูงโรงเรียน 22 ต้นอ้างหาเงินเข้าหลวง

สุดเย้ยคดีลักไม้พะยูง ยังไม่จบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมธนารักษ์ และป่าไม้ อนุญาต ให้นายหน้าค้าไม้พะยูง ตัดไม้ในโรงเรียนรวดเดียว 22 ต้น ในราคา 1 แสนบาท ต่ำกว่าราคาซื้อขายไม้ยูคา ขณะที่มีรายงานเสียงเลื่อยยนต์ดังก้องคำรามตัดไม้พะยูงอายุเกือบร้อยปี ครู นักเรียน ชาวบ้านร่ำไห้แสนเสียดายตัดไม้หนูทำไม ด้านผู้ว่าฯกาฬสินธุ์เต้นส่งนายอำเภอสอบสวน เรียกร้อง สตง., ปปช., ปปท. ตรวจสอบ และดีเอสไอ บรรจุเป็นคดีพิเศษด้วย
วันที่ 18 สิงหาคม 2566 ที่ว่าการอำเภอหนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ นายจารุวัตร ภูแก้ว นายอำเภอหนองกุงศรี พร้อมด้วย พ.ต.ท.กชฐพงศ์ ศรียางค์ สวป.สภ.หนองกุงศรี และนายกเทศมนตรีตำบลคำก้าว ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโรงเรียนแห่งหนึ่งหลังได้รับแจ้งมีการตัดไม้พะยูงตั้งแต่เมื่อวานนี้ (17 ส.ค.66) และถูกขนย้ายไปตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เบื้องต้นจากการตรวจดูเอกสาร เป็นการจัดซื้อจัดขายไม้พะยูงกับเอกชนรายหนึ่ง กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 ในราคา 153,000 บาท จากการขายไม้พะยูง 22 ต้น
นายจารุวัตร ภูแก้ว นายอำเภอหนองกุงศรี กล่าวว่า กรณีตัดไม้ดังกล่าว ตนเพิ่งทราบจากชาวบ้านเมื่อวานนี้ (17 ส.ค.66) จึงได้รายงานนายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ ก่อนที่ทางจังหวัดโดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ จะได้สั่งการให้ตนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สภ.หนองกุงศรี ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และชาวบ้าน ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง จากนั้นลงพื้นที่สำรวจบริเวณที่มีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนแห่งหนึ่ง
นายจารุวัตร ภูแก้ว นายอำเภอหนองกุงศรี กล่าวว่า จากการดูข้อมูลกับครูโรงเรียนทราบว่าการตัดไม้พะยูงดังกล่าว มีการตกลงให้นายทุนเข้ามาประมูลซื้อ โดยการรับรองของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 ร่วมกับโรงเรียนแห่งหนึ่งที่และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ซึ่งในเอกสารระบุประมูลซื้อขายไม้พะยูงจำนวน 22 ต้น ในราคา 153,000 บาท ซึ่งตัดไปแล้ว 17 ต้น เหลือ 5 ต้น ทั้งนี้ ได้สั่งชะลอการตัดไว้ก่อน เนื่องจากมีชาวบ้านเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ส่วนประเด็นที่มีการพูดกันมาก เป็นในส่วนของความเหมาะสม และเหตุผลในการขออนุญาตตัด รวมทั้งการประเมินราคา ก็จะมีการตรวจสอบในเชิงลึกในลำดับต่อไป
ด้านนายอภิวัฒน์ ราชาพัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านคำไฮ หมู่ 11 กล่าวว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เคยมีเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวน ลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียน 4 ครั้ง 2 ครั้งแรกไม่ได้ไม้พะยูงไป ครั้งที่ 3 ได้ไม้พะยูงไป 1 ต้น และครั้งที่ 4 เมื่อเดือน พ.ค.66 ที่ผ่านมา คนร้ายไม่ได้ไม้พะยูงไป ทั้งนี้ทุกครั้งหลังเกิดเหตุ ผู้นำชุมชนก็จะมาอยู่เป็นเวรยามเฝ้าไม้พะยูงภายในโรงเรียนกับครูเวร แต่คนร้ายก็ฉวยโอกาสในคืนฝนตกเวลากลางดึก เข้ามาก่อเหตุซ้ำอีก ซึ่งถือเป็นภาระรับผิดชอบและความเดือดร้อนของผู้นำชุมชน ที่ต้องหวาดระแวง หวั่นเกิดอันตราย จากการมาเข้าเวรเฝ้าไม้พะยูง เนื่องจากทราบว่าคนร้ายที่เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูง มาหลายคนและมีอาวุธ
อย่างไรก็ตาม จากการขายไม้พะยูงจำนวน 22 ต้น ราคา 153,000 บาท โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และธนารักษ์มาเป็นคนประเมินราคา ตนคิดว่าเป็นราคาขายที่ต่ำ ไม่ค่อยจะเหมาะสมกับปริมาตรไม้นัก กับจำนวนไม้ 1 รถบรรทุก และรถกระบะต่อโครงสูงอีก 1 คัน
โดยจากการเดินสำรวจดูทำเล ก็ไม่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายกับตัวอาคาร หรือครู นักเรียน หากมีการหักโค่นลงมาด้วยภัยธรรมชาติ เนื่องจากมีจัดเป็นโซนปลูกเป็นสวนต้นไม้เศรษฐกิจทางเข้าประตูโรงเรียน มีไม้พะยูง ไม้ประตู่ ที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินอื่นใดของทางราชการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ จากการขายไม้พะยูง 22 ต้น ลำเลียงขึ้นรถบรรทุก 2 คันดังกล่าว บุคคลในวงการค้าไม้บอกว่าเป็นราคาที่ถูกจนน่าตกใจ เรียกว่าถูกกว่าไม้ยูคาก็ว่าได้ ถือเป็นการขายไม้พะยูงเที่ยวนี้แบบดั้มพ์ราคาทีเดียว จึงอยากเรียกร้อง สตง., ปปช., ปปท. เข้าตรวจสอบ เส้นทางการค้าไม้พะยูงของโรงเรียนคำไฮวิทยาว่า ถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส รัฐได้ประโยชน์จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอยากเรียกร้องให้ดีเอสไอ บรรจุเป็นคดีพิเศษด้วย เพราะการอนุญาตขายไม้ในพื้นที่ของกรมธนารักษ์ มีการเปิดประมูลขายหลายครั้งมาก จนชาวบ้าน ครูและเด็กนักเรียน ที่ได้ยินเสียงเลื่อยยนต์ตัดไม้พะยูงอายุเกือบ 100 ปีน้ำตาซึมไหล รู้สึกเจ็บปวดหัวใจ และแสนเสียดาย เพราะไม่อยากให้มีการขายไม้พะยูงในโรงเรียน ที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เคยปลูกไว้ให้ความร่มรื่นและเป็นสมบัติของแผ่นดิน

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป