เชียงใหม่-สช.ขับเคลื่อนสื่อสุขภาวะ18 จังหวัดภาคเหนือ เตรียมผลักดันในการทำงานเป็นภาคีเครือข่ายทั้ง 13 เขตในอนาคต
เชียงใหม่-สช.ขับเคลื่อนสื่อสุขภาวะ18 จังหวัดภาคเหนือ เตรียมผลักดันในการทำงานเป็นภาคีเครือข่ายทั้ง 13 เขตในอนาคต
วันที่ 16-18 สิงหาคม 2566. ที่ฮอไรซันวิลเลจแอนด์รีสอร์ท อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้จัดประชุม “ภาคีสื่อสุขภาวะภาคเหนือ เขต 1-3 จาก 18 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งสื่อวิทยุชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ จำนวน 40 คนเข้าร่วมการประชุม
ทั้งนี้ หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของ สช. ปี 2566 คือการสื่อสารสังคมเชิงรุก โดยเฉพาะงานด้านสุขภาวะที่ สช. กำลังเน้นหนักไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) หรือสิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ตลอดจนการขยายแนวคิดและขับเคลื่อนทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP) ให้เป็นรูปธรรม เป็นต้น โดยที่ สช. ตั้งใจที่จะขยายฐานความร่วมมือสื่อทั้งในระดับประเทศ สื่อท้องถิ่น สื่อในกลไก กขป. สมัชชาสุขภาพจังหวัด เพื่อให้เกิดภาคีเครือข่ายด้านสื่อที่มีความเข้าใจต่อนโยบายสุขภาวะ สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ด้วยเครื่องมือและช่องทางต่างๆ ทั้งออนกราวด์ ออนแอร์และออนไลน์ ภายใต้กระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นการเพิ่มและขยายฐานการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงและเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยในการประชุม นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้บรรยายความสำคัญของสื่อสุขภาวะกับการทำงานในพื้นที่และการหารือประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในพื้นที่ภาคเหนือโดยนายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่และนายทรงพล ตุละทา ผู้เชี่ยวชาญสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ซึ่งในเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย
จากนั้นคณะของสื่อสุขภาวะภาคเหนือได้ลงพื้นที่ทำงานสื่อสารประเด็นเรื่อง PM 2.5 การบริหารจัดการไฟ การพัฒนาเมืองสีเขียวและปัญหามลพิษในพื้นที่เมืองกรณีศึกษาของตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลทาเหนือ โดยมีวิทยากรจากสภาลมหายใจเชียงใหม่และองค์การบริหารส่วนตำบลทาเหนือร่วมแลกเปลี่ยน
สำหรับสภาพพื้นที่ของตำบลทาเหนือ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่เป็นที่สูง มีภูเขาล้อมรอบ สภาพหมู่บ้านกระจายกันเป็นหย่อม ๆมีการรวมตัวเป็นชุมชนมากว่า 100 ปีในอดีตเป็นพื้นที่ป่าสัมปทานซึ่งมีการตัดไม้จนเกิดภาวะความแห้งแล้ง คนในชุมชนได้ลุกขึ้นมาจัดการกับสภาพปัญหาในการที่จะฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนมาเหมือนเดิม ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่กลับพบปัญหาของการเกิดไฟป่าลุกลามมากขึ้นทุกปีจนเกิดภาวะวิกฤติสู่ปัญหาในระดับประเทศนั่นคือ ปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยพื้นที่ของอำเภอแม่ออนเป็น 1 ใน 8 พื้นที่พิเศษเฝ้าระวังของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยมักเกิดเหตุไฟไหม้ซ้ำซากในพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ของตำบลทาเหนือข้อมูลปี 2566 มีจุดเกิดHotspot ถึง 84 จุดโดยส่วนใหญ่เกิดขี้นในพื้นที่ป่าสงวน นอกจากนี้ทางตำบลทาเหนือได้มีการถอดบทเรียนไฟป่าหมอกควันฯปี 2566 ชี้ชัดปัญหาไฟลุกลามจากการใช้ดาวเทียมคนละดวง จังหวัดและอำเภอใช้ข้อมูลGisda แจ้ง Hot spot ในพื้นที่และเป็นดัชนีชี้วัดKPI ทำงาน ซึ่งไม่ตรงกับสถานการณ์ไฟในพื้นที่ทั้งที่ไฟเกิดจริงกว่าเท่าตัว ชาวบ้านวิ่งดับไฟทุกวันแต่รายงานอำเภอกับจังหวัดไม่มีการเกิด รวมทั้งปัญหาการใช้งบประมาณที่เบิกจ่ายล่าช้าหรือมีระเบียบการเบิกจ่ายที่ทำให้ไม่เกิดความคล่องตัว จึงเป็นประเด็นปัญหาทำให้การทำงานยังไม่บรรลุตามเป้าหมายซึ่งจะต้องดำเนินการร่วมกันแก้ไขปัญหาให้การทำงานไปในแนวทางเดียวกัน
ทั้งนี้ หลังจากการลงพื้นที่ครั้งนี้. คณะสื่อสุขภาวะภาคเหนือจะได้มาร่วมกันกำหนดประเด็นขับเคลื่อนร่วมกันในแต่ละเขตรวมทั้งกำหนดกลยุทธการทำงานและการสื่อสารทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์เร่งด่วน การกำหนดข้อความสำคัญในการสื่อสาร เป้าหมายและวิธีการ ช่องทางในการสื่อสารแต่ละพื้นที่โดยทาง สช.หนุนเสริมข้อมูลและงบประมาณในการขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ต่อไป