ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ระวังมิจฉาชีพโทรสั่งอาหาร แล้วให้สำรองเงินซื้ออาหาร หรือเครื่องดื่มเพิ่มเติม อ้างจะให้เงินส่วนต่าง ใช้ความโลภของเหยื่อเป็นเครื่องมือ
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ระวังมิจฉาชีพโทรสั่งอาหาร แล้วให้สำรองเงินซื้ออาหาร หรือเครื่องดื่มเพิ่มเติม อ้างจะให้เงินส่วนต่าง ใช้ความโลภของเหยื่อเป็นเครื่องมือ
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ที่ผ่านตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ในหลายพื้นที่ กรณีที่มีมิจฉาชีพโทรศัพท์ไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร อ้างว่าจะสั่งทำอาหารกล่อง หรืออ้างว่าจะสำรองโต๊ะอาหารพร้อมสั่งอาหารในปริมาณมาก จากนั้นมิจฉาชีพจะทำการโอนเงินมัดจำไปยังบัญชีร้านค้าดังกล่าวจริงเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตายใจ หรืออ้างว่าตนได้ทำการโอนเงินไปยังร้านอาหารเรียบร้อยแล้วพร้อมทั้งส่งหลักฐานการโอนเงินปลอมมาให้ผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายกลับตรวจสอบพบว่าเงินค่าอาหารยังไม่เข้าบัญชีร้านอาหารแต่อย่างใด ต่อมามิจฉาชีพจะหลอกลวงผู้เสียหายให้ทำการสำรองเงินสั่งซื้ออาหาร หรือเครื่องดื่มเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก โดยจะให้ออกบิลค่าอาหารหรือค่าเครื่องดื่มในราคาสูงกว่าปกติ ซึ่งเงินส่วนต่างจะเป็นของผู้เสียหายทั้งหมด หากผู้เสียหายรายใดหลงเชื่อ มีความโลภอยากได้เงินส่วนต่างดังกล่าว ก็จะถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินไปยังบัญชีที่เตรียมไว้แล้วหลบหนีไป ไม่สามารถติดต่อได้
ยกตัวอย่างเช่น กรณีประมาณเดือน มี.ค.66 มิจฉาชีพได้โทรศัพท์มาสั่งทำข้าวกล่องจากร้านอาหารผู้เสียหาย 100 ชุด ในราคา 10,000 บาท โดยโอนมัดจำให้ผู้เสียหาย 3,000 บาท ต่อมาอ้างว่าอยากให้ทำอาหารสำเร็จรูปอีก 100 ชุด ชุดละ 1,000 บาท รวม 100,000 บาท แต่ให้ผู้เสียหายทำบิล 150,000 บาท ให้เป็นส่วนต่างผู้เสียหาย 50,000 บาท หรือล่าสุดกรณีมิจฉาชีพโทรศัพท์ไปสำรองโต๊ะร้านอาหารของผู้เสียหายพร้อมสั่งอาหารในราคากว่า 20,000 บาท จากนั้นได้ส่งหลักฐานการโอนเงินที่ไม่สามารถตรวจสอบได้มาให้ผู้เสียหาย ต่อมาได้ให้ผู้เสียหายสำรองเงินเพื่อสั่งซื้อไวน์ในราคารวมกว่า 56,000 บาท แต่ให้คิดบวกเพิ่มอีกเป็นจำนวนกว่า 80,000 บาท ส่วนต่างดังกล่าวจะเป็นของผู้เสียหาย เป็นต้น
บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพมักแสวงหาวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความไม่รู้ ความโลภ และความกลัวของประชาชนเป็นเครื่องมือ ประกอบกับใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาสร้างความน่าเชื่อให้กับการหลอกลวงนั้นๆ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันการทำธุรกรรมใดๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวังและตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรมมิจฉาชีพ พึงระลึกไว้เสมอว่าผู้ที่ทำธุรกรรมกับเรานั้นจะหลอกลวงเราเมื่อใดก็ได้
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 5 ข้อ ดังนี้
1.ผู้ประกอบการร้านอาหาร ควรระมัดระวังการรับสายโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย ไม่เคยมีประวัติการสั่งซื้ออาหาร มาก่อน มีการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ และมีการเร่งรัดการตัดสินใจ เร่งรีบ หรือข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว
2.ระวังหลักฐานการโอนเงินปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้น ต้องตรวจสอบหลักฐานการโอนเงินให้ละเอียด ไม่ว่าจะเป็นชื่อผู้รับโอน วันที่ เวลา และจำนวนเงินว่าถูกต้องหรือไม่ รวมถึงความละเอียดของตัวอักษรที่ปรากฏบนหลักฐานการโอนเงินด้วย
3.ใช้บริการแจ้งเตือนของสถาบันการเงินหรือธนาคาร ซึ่งจะทำการแจ้งเตือนทันทีเมื่อมีเงินเข้าบัญชี หรือใช้การสแกน QR CODE บนหลักฐานหรือสลิปการโอนเงิน (E-Slip) ประกอบกับตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารนั้นๆ ว่ามีจำนวนเงินเข้ามาในบัญชีจริงหรือไม่
4.ตรวจสอบบัญชีที่รับโอนเงินทุกครั้งอย่างละเอียดรอบคอบ โดยนำชื่อสกุลเจ้าของบัญชี หมายเลขบัญชี ไปตรวจสอบในเว็บไซต์การค้นหาทั่วไป หรือที่ https://www.blacklistseller.com ว่ามีประวัติการฉ้อโกงหลอกลวงหรือไม่
5.หากมีการให้โอนเงินเพื่อสำรองค่าอาหาร หรือค่าเครื่องดื่มใดๆ ก่อน พร้อมทั้งมีการอ้างว่าจะให้เงินส่วนต่าง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ห้ามโอนเงินโดยเด็ดขาด