เพชรบูรณ์ กลุ่มแม่บ้านบ้านหนองตาด เรียนรู้กระบวนการผลิตปลาส้ม สร้างรายได้เสริม พร้อมโชว์เมนูเด็ด ปลาส้มทอดสมุนไพร ปลาส้มย่างใบตอง
เพชรบูรณ์ กลุ่มแม่บ้านบ้านหนองตาด เรียนรู้กระบวนการผลิตปลาส้ม สร้างรายได้เสริม พร้อมโชว์เมนูเด็ด ปลาส้มทอดสมุนไพร ปลาส้มย่างใบตอง
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ (ส.ป.ก.เพซรบูรณ์) โดยมี นางสาวปณิดา ดอกจันทร์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการ นำกลุ่มแม่บ้านบ้านหนองตาด หมู่5 ต.พุทธบาท อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 25 ราย เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อน้อมนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ทำกิน โดยเน้นการจัดการที่ดินและน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเหมาะสมและบริบทของพื้นที่
จากนั้นส่งเสริมให้มีการผลิตในรูปแบบเกษตรปลอดภัยที่หลากหลาย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและความเป็นอยู่ ลดปัจจัยเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและความผันผวนของราคาสินค้าตามกลไกตลาด มีการใช้ตลาดนำการผลิต มีการเตรียมพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว การวางแผนการผลิต และการจัดการการตลาด ในชุมชนแบบครบวงจร เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย จนไปถึงการผลิตที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice)
อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อันจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรบริหาจัดการพื้นที่ตามรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ได้อย่างเหมาตามบริบทของภูมิสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ด้านการผลิต แปรรูปสินค้า โดยจัดการและส่งเสริมการตลาดอย่างครบวงจร และกระดับสินค้าให้มีคุณภาพ สร้างเครือข่าย เชื่อมโยงกิจกรรมการผลิต รวมถึงสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่เกษตรกรที่ สนใจปรับเปลี่ยนจากการผลิตเชิงเดี่ยวเป็นผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
โดยเฉพาะในกิจกรรมวันนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านบ้านหนองตาด ได้มีการเรียนรู้กระบวนการผลิตปลาส้ม โดยวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากในชุมชน ประกอบด้วย เนื้อปลาหรือตัวปลา 10 กิโลกรัม กระเทียมสับ 1 กิโลกรัม ข้าวเหนียวนึ่ง 1 กิโลกรัม เกลือเม็ด 1 กก. ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ ขอดเกล็ดปลา ดึงเหงือกและควักไส้ ล้างทำความสะอาด 1-2 น้ำ จากนั้น บั้งปลาล้างทำความสะอาด อาจตัดหัวออกหรือไม่ต้องตัดหัวก็ได้ นำกระเทียมมาปอกเปลือก ตำโขลกหรือบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำข้าวเหนียวมานึ่งให้สุกล้างให้สะอาด
ส่วนขั้นตอนการผสมวัตถุดิบ นำเนื้อปลาหรือตัวปลามาคลุกผสมกับวัตถุดิบที่เตรียมไว้ในชามขนาดใหญ่ ได้แก่ กระเทียมข้าวเหนียว โดยการคลุกพร้อมกับขยำด้วยมือ นาน 10-20 นาที นำปลาที่คลุกกับส่วนผสมแล้วใส่กระปุก ก่อนปิดฝาให้สนิท หรือ บรรจุใส่ถุงพลาสติก นำภาชนะหมักปลาส้มตั้งทิ้งไว้ในร่ม นาน 3-4 วัน ก็พร้อมรับประทาน ทั้งนี้ หากเป็นฤดูร้อนจะเป็นปลาส้มได้เร็ว ประมาณ 2-3 วัน แต่หากเป็นฤดูหนาวอาจนานถึง 5-7 วันจึงนำมาทอดรับประทาน สำหรับเมนูเด็ด ก็จะมี ปลาส้มทอดสมุนไพร ปลาส้มย่างใบตอง
สำหรับราคาขาย จะแพ๊คใส่ถุง ถุงละ3 ตัว น้ำหนักประมาณ ครึ่งกิโลกรัม จำหน่ายในราคา 100 บาท โดยนำไปขายในชุมชน พร้อมนำไปขายตามตลาดสดหรือตลาดนัดต่างๆ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว