เชียงใหม่- ปิดโครงการเป็นที่เรียบร้อย กับงานฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์ม อัจฉริยะในโรงเรือน
เชียงใหม่- ปิดโครงการเป็นที่เรียบร้อย กับงานฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์ม อัจฉริยะในโรงเรือน
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) สำนักงานเชียงใหม่ เปิดหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กลุ่มเกษตรกรภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน) ที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัด, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคเหนือตอนบน, หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer), สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยพะเยา
โดยมุ่งเน้นให้โครงการฯ นี้สามารถสร้างความยั่งยืน และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างมีคุณภาพ และเน้นการพัฒนาพืชสมุนไพรมูลค่าสูงผ่านห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ด้วยแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) และเศรษฐกิจฮาลาล (Halal Economy) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพืช และสมุนไพรไทย ตลอดจนการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สร้างความอัจฉริยะในการเกษตร สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่จะช่วยแก้ปัญหา และลดความเสี่ยงด้านการจัดการปลูกพืชสมุนไพรในโรงเรือนอัจฉริยะ และเพื่อพัฒนาระบบการบริหาร จัดการการปลูกพืชสมุนไพรด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เป็นโรงเรือนต้นแบบ เพื่อใช้และต่อยอดในอนาคตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงเพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรในฟาร์มให้เป็นพืชปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และได้รับความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน Halal ตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม และเพื่อให้ได้รับความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ และเทคโนโลยีสำหรับสมาร์ทฟาร์ม และสามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อไป โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีในพื้นที่มาช่วยแก้ปัญหา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมการเกษตรฮาลาล, ลดความเสี่ยงด้านการจัดการ, ลดต้นทุน, ลดการใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิตให้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการปลูกพืชสมุนไพรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ เป็นการนำเอาระบบเฝ้าระวัง (monitoring) และระบบควบคุม (control) ปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น การใช้น้ำ, อุณหภูมิ และความชื้น เป็นต้น ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ loT (Internet of Things) โดยการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ (senser) และอุปกรณ์ควบคุม (controller) ภายในโรงเรือน และส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ โดยเกษตรกรหรือผู้ใช้งานสามารถสั่งการ และเรียกดูการรายงานผลในรูปแบบข้อมูล และกราฟ ผ่านทางหน้าเว็ปไซต์ (Website) ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ในกระบวนการเพาะปลูก และเพิ่มผลผลิตให้สามารถส่งออกไปสู่ตลาดได้อย่างเพียงพอ ด้วยในปัจจุบันชุมชนมีตลาดรองรับเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังลดการใช้เวลา และการพึ่งพาแรงงานอีกด้วย
ทั้งนี้ได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 มีทั้งหมด 28 รุ่น ตั้งแต่เดือน มกราคม – สิงหาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมอบรม กว่า 1,050 คน ซึ่งมีการแบ่งหัวข้ออบรมเป็น 6 ข้อใหญ่ๆ อาทิ Sustainable Agriculture, Sustainable Branding, Sustainable Farming Sustainable Marketing, Sustainable Packaging และ Halal Forensic Science ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม และให้ความรู้สำหรับผู้เข้าอบรมเป็นอย่างมาก โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้บรรยาย และจัด workshop มากมาย อาทิ
Sustainable Agriculture- การบรรยายหัวข้อ “พัฒนาการขยายพันธุ์สับปะรด สู่เกษตรชั้นนำ” โดย รศ.ดร.ชิติ ศรีตนทิทย์ อาจารย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.ลำปาง
Sustainable Branding การบรรยายหัวข้อ “คอนเท้นต์ คอนใจ เกษตรกรยุคใหม่สร้างสรรค์อย่างไร ให้ยั่งยืน Smart Content for Sustainable” โดย คุณณัฐนันท์ อินแถลง Marketing Director Blackcat Agency
Sustainable Farming การบรรยายหัวข้อ “Design Thinking กับการพัฒนาชุมชนเกษตรเข้าสู่ฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณิษวาส จินตพิทักษ์ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “Data Visualization for Smart Farm” โดย คุณกมลาภรณ์ กุมมาลือ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Sustainable Marketing การบรรยายหัวข้อ “การสร้างร้านค้าออนไลน์บนช่องทางโซเชียลมีเดีย” (Social Media) โดย คุณทิพวรรณ ประทุมทา จาก บริษัท O2O Commerce ,การบรรยายหัวข้อ “Gets more Short VDO Commerce เทคนิคการนำเสนอขายสินค้าผ่านคลิปสั้นด้วยตัวเอง” โดย คุณณัฐนันท์ อินแถลง จาก Blackcat Agency
และการบรรยาย และWorkshop หัวข้อ “Right Content, Right Person สร้างคอนเทนต์ที่ “ใช่” มัดใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง”
Sustainable Packaging การบรรยายหัวข้อ “เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ด้วย Smart Packaging Design” โดย คุณ คุณโสภิณ หาญเตชะ Art Director Minterax Studio ,การบรรยายและ Workshop หัวข้อ “Advanced Packaging Design & Development ออกแบบแพคเกจจิ้งอย่างมืออาชีพ สู่การสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน” โดย คุณโสภิณ หาญเตชะ ตำแหน่ง Art Director บริษัท มินเทอแร็คซ์ สตูดิโอ จำกัด
Halal Forensic Science การบรรยายหัวข้อ “วัตถุดิบที่ต้องสงสัย และการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล” โดย คุณสุลัยญา เปี่ยมชัยวัฒน์ Scienctise, The Halal Science Center Chulalongkorn University, การบรรยายและ Workshop “การพิจารณาและคัดเลือกวัตถุดิบ เพื่อการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล” โดย คุณชิตาพร ประทาน Scienctist The Halal Science Center Chulalongkorn University ฯลฯ
ทั้งนี้ในการจัดอบรมนอกจากจะมีการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติการ ยังได้จัดให้มีกิจกรรมกว่า 5 กิจกรรมอีกด้วย อาทิ กิจกรรมที่ 1 : การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ กิจกรรมที่ 2 : การพัฒนาหน่วยฝึกอบรมและ Train-The-Trainer จำนวน 5 คน ที่ช่วยให้เกษตรกรที่เป็นเครือข่ายสามารถใช้เครื่องมือในการอบรมเกษตรกรรายอื่นๆในท้องถิ่นได้ 500 คน กิจกรรมที่ 3 : การส่งเสริมและการขยายผลเกษตรกรอัจฉริยะ กิจกรรมที่ 4 : การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งด้านอาหารและเครื่องสำอาง โดยเน้นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาด (demand-driven)
โครงการได้ร่วมมือกับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศเพื่อศึกษาความต้องการของกลุ่มลูกค้าและเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานและคุณภาพ โดยเชื่อมต่อกับเกษตรกรผู้ปลูกโดยตรง ซึ่งได้ยกระดับสินค้าเกษตรไทย โดยแบ่งกลุ่มสินค้าที่พัฒนาเป็น 3 ระดับ
ได้แก่ ระดับนวัตกรรม: เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 200% โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เช่น สีธรรมชาติ (Plant-based Color) สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางจากพืช เช่น ไม้ฝาง ใบมะม่วง ดอกอัญชัน ใบเตย แครอท ฟักทอง ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 100 บาท ไปเป็นสีธรรมชาติ ขั้นต่ำกิโลกรัมละ 1,800 บาท, Probiotic Skincare ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ จาก ลิ้นจี่ สัปปะรด และข้าว ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าได้กว่า 800 %,เซรั่มบำรุงผม จากพืช โรสแมรี่, ขิง, และมะกรูด ด้วยเทคโนโลยี Encapsulation ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 50 บาท ไปเป็นวัตถุดิบ กิโลกรัมละ 2,000 บาท, Quranic Energy Bar โดยการรวบรวมพืชและผลไม้ที่ได้กล่าวถึงในพระคัมภีร์อัลกุรอาน ได้แก่ อินทผลัม องุ่น มะกอก มะเดื่อ ทับทิม กล้วย และเทียนดำมาเพิ่มมูลค่าได้ถึง 200%,น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) จากสมุนไพรไทย เช่น ขิง ข่า กระเพรา ตะไคร้หอม ด้วยเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันด้วยคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดได้มากกว่า 205% และเพิ่มมูลค่าได้ 350% เทียบกับการขายพืชสด
ระดับต้นแบบ: เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 30% โดยใช้เทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นต้น ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือฟังก์ชันการบริโภค เช่น การพัฒนา Hydrosol Drinking Water หรือเครื่องดื่มจากน้ำที่ได้จากการกลั่นดอกไม้หรือพืช ร่วมกับ ร้านเฮิร์บ เบสิคส์ โดยใช้ผลิตภัณฑ์จาก กุหลาบ มิ้นท์ และข้าวหอมมะลิ เป็นต้น
การพัฒนาโลชั่น และ แฮนด์ครีม ร่วมกับ บริษัท สุวิรุฬห์ ชาไทย จำกัด จากชาออแกนิคชนิดต่างๆ เช่น ชาเขียว ชาดำ ชากุหลาบ ชาตะไคร้ ชาอูหลง และ ชามะลิ เป็นต้น,การพัฒนา Refill Station ร่วมกับร้าน Good Health เพื่อลดการใช้ packaging โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ จาก ส้ม มะลิ ตะไคร้หอม และ โรสแมรี่ฯลฯ
ระดับสร้างยอดขาย: เน้นการสร้างยอดขายสินค้าเกษตรแปรรูป โดยการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ปลายน้ำ (ผู้จำหน่ายสินค้า), กลางน้ำ (ผู้แปรรูป), และต้นน้ำ (ผู้ปลูก) เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว (personal care) สำหรับตลาดสีเขียว (green market) ในประเทศ จาก ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น Nail Serum ใช้ข้าวหอมมะลิออแกนิค จากอำเภอพร้าว, Shower Gel ใช้ มิ้นท์จากอำเภอเมืองเชียงใหม่, Hemp Oil โดยใช้ กัญชง จากอำเภอกัลยานิวัฒนา โดยคาดว่าจะมียอดขายรวม 1 ล้านบาท ,ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากดอกไม้ สำหรับตลาดเวียดนาม โดยใช้ ดอกอัญชันอบแห้ง จากจังหวัดลำพูน โดยมียอดสั่งซื้อแล้ว 3 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมเพื่อสุขภาพ สำหรับตลาดสิงคโปร์ โดยใช้ ชามะลิออแกนิคจากจังหวัดเชียงราย โดยใช้ กล้วยและมะม่วงอบพลังงานแสงอาทิตย์จากจังหวัดพิษณุโลก โดยมียอดสั่งซื้อแล้ว 1.5 ล้านบาท
กิจกรรมที่ 5 : การพัฒนาช่องทางการตลาดของสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โครงการได้เชื่อมโยงแพลตฟอร์มการตลาดในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมและกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ที่ชื่นชมสินค้าสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สปาของไทย
จัดตั้ง Pop Up Store ที่ One Nimman จังหวัดเชียงใหม่ และการขายสินค้าจากธรรมชาติ ได้แก่ ห้างริมปิง ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้าน Good Health เพื่อทดสอบตลาดของสินค้านวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างให้เกิดยอดขายจริงในโครงการ รวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการและผลลัพธ์ของโครงการในงานหอการค้าแฟร์ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย ในช่วงโครงการได้สร้างยอดขายมูลค่ากว่า 5.5 ล้านบาท จากในประเทศ และต่างประเทศ คาดว่า 1 ปีหลังจากเสร็จสิ้นโครงการจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาท
ทั้งนี้ทางผู้จัดโครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ในภาคเหนือ” นี้ต้องการยกระดับเกษตรกรไทย และสินค้าเกษตรของไทยให้มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% และพัฒนาเกษตรกรมากกว่า 1,200 คนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรฮาลาลอัจฉริยะอีก 5 แห่ง ให้ทั่วประเทศในอนาคต รวมไปถึงการมีต้นแบบผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีมูลค่า จำนวน 52 ชิ้น จาก 22 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปี ได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ในอนาคต
สำหรับเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือนโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ภาคเหนือตอนบน 1” สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– https://sites.google.com/view/halal-smart-farm
– https://www.facebook.com/HSC.CU.CM?mibextid=ZbWKwL
– https://www.facebook.com/HalalSmartFarm?mibextid=LQQJ4d
นภาพร/เชียงใหม่