ปทุมธานี 9ราชมงคลผนึกกำลังร่วมภาคประกอบการสร้างนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง
ปทุมธานี 9ราชมงคลผนึกกำลังร่วมภาคประกอบการสร้างนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 9 ราชมงคล กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จัดใหญ่ โชว์ความสำเร็จด้านการพัฒนากำลังคนจากการคัดเลือก บ่มเพาะ และเคลื่อนย้ายกำลังคนไปทำงานร่วมกับสถานประกอบการเพื่อการพัฒนานวัตกรรม ในงาน “มหกรรมนวัตกรรมการทำงานของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลร่วมกับภาคประกอบการ ครั้งที่ 2” ณ โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมนวัตกรรมการทำงานของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลร่วมกับภาคประกอบการ ครั้งที่ 2 (The 2nd RMUT-TRM Day) ที่จัดขึ้นในวันที่ 25 – 26 ก.ค. 2566 ณ โรงแรม โนโวเทล กรุงเทพ รังสิต โดยมีนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 ผู้แทนหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมแห่งชาติ สถานประกอบการ และนักวิจัยผู้มีศักยภาพของกลุ่ม มทร. เข้าร่วมงานกว่า 300 คน
รศ.ดร.สมหมาย เผยว่า งานมหกรรมนวัตกรรมฯ ครั้งที่ 2 RMUT-TRM DAY เป็นงานแสดงผลผลิตและนวัตกรรม การทำงานร่วมระหว่างนักวิจัยของ มทร. และสถานประกอบการ ดำเนินการภายใต้แพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากร ผู้มีศักยภาพของกลุ่ม มทร. เพื่อปฏิรูประบบการพัฒนากำลังคนของประเทศ หรือ TRM-PLUS ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งก่อนหน้านั้น สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ผลักดันนโยบาย “ONE RMUT” ของ มทร. จึงเกิดแนวคิดในการพลิกโฉมกลุ่มมหาวิทยาลัย สร้างกลไกใหม่ของการบริหารจัดการทุนวิจัยร่วมกันของคณะกรรมการร่วมจากทั้ง 9 มทร. ภายใต้การกำกับของ ทปอ. มทร. ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการทุกระดับ
ภาพรวมทั้งหมดมีอาจารย์ นักวิจัยจากกลุ่ม มทร. 418 คน ไปทำงานร่วมกับสถานประกอบการ 135 แห่ง เปิดโอกาสให้นักศึกษา 255 คน ได้เรียนรู้และฝึกทักษะจากปัญหาและความต้องการจริงของสถานประกอบการ มีการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ในสถาบันอาชีวศึกษา 74 คน รวมถึงมีนักวิจัยชาวต่างชาติร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่สถานประกอบการไทย 11 คน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และวัสดุต้นแบบ ปรับปรุงระบบบริหารจัดการธุรกิจและอุตสาหกรรม ปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักรและสร้างเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิต ปรับปรุงมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ และสร้างโอกาสทางแข่งขันเชิงพานิชย์ร่วมกับนักวิจัยชาวต่างชาติ ในสาขาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม 12 S-curves ได้แก่ การพัฒนาการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ดิจิทัล และการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
สำหรับงานแสดงผลผลิตและนวัตกรรมการทำงานร่วมระหว่างนักวิจัยของ มทร. และสถานประกอบการ ดำเนินการภายใต้แพลตฟอร์มบริหารจัดการทรัพยากร ผู้มีศักยภาพของกลุ่ม มทร. เพื่อปฏิรูประบบการพัฒนากำลังคนของประเทศ หรือ TRM-PLUS มีกำลังคนผู้มีศักยภาพที่ทำงานร่วมกับสถานประกอบการทั้งสิ้น 769 คน จัดแพ็คเกจการทำงานร่วมเป็น 3 รูปแบบ รวม 145 โครงการ คือ Basic-package หรือ TMB จำนวน 33 โครงการ อาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของนักวิจัยพี่เลี้ยงเพื่อบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ ในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนไม่มากนัก Impact-package หรือ TMI จำนวน 102 โครงการ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของนักวิจัยรุ่นกลาง ในการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคและการผลิตขั้นสูง สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ให้แก่สถานประกอบการ รวมถึงบ่มเพาะบุคลากรในสถานประกอบการให้มีทักษะด้านการวิจัยและพัฒนา High-impact-package หรือ TMH จำนวน 10 โครงการ มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ ยกระดับศักยภาพของนักวิจัยที่มีประสบการณ์สูง และสถานประกอบการที่มีความพร้อม เพื่อการแข่งขันเชิงพานิชย์ระดับสากล
ทั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของระบบการบริหารจัดการทุนวิจัยแนวใหม่ ในการคัดเลือก บ่มเพาะ และเคลื่อนย้ายกำลังคนจากสถาบันการศึกษาไปทำงานร่วมกับสถานประกอบการเพื่อการพัฒนานวัตกรรม การดำเนินการที่ผ่านมากว่า 2 ปี ทำให้เกิดการขยายโอกาสการทำงานไปยังเครือข่ายการจัดการศึกษาการในระดับอาชีวศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการเครือข่ายในต่างประเทศ และส่งผลกระทบเชิงพวกทำให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศตั้งแต่ 50-90% เพิ่มโอกาสและพัฒนาแนวคิดธุรกิจฐานนวัตกรรมแก่วิสาหกิจชุมชน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ SML มากกว่า 280 แห่ง มูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนในแพลตฟอร์ม เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 28% ซึ่งเป็นการยกระดับกลุ่ม มทร. ให้ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน และสร้างโอกาสให้แก่สถานประกอบการไทย ไปสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน