20/09/2024

ลำปาง-วิ่งจริง 3 ส.ค. 66 รถมินิบัสไฟฟ้ารับส่งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ 28 คัน

ลำปาง-วิ่งจริง 3 ส.ค. 66 รถมินิบัสไฟฟ้ารับส่งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ 28 คัน

กฟผ.แม่เมาะ โดยแผนกประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จัดงาน “จิบกาแฟ แฉไอเดีย” ณ อาคารเดอะบล็อก กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อสื่อสารภารกิจงานสำคัญของ กฟผ. แก่สื่อมวลชน จ.ลำปาง กว่า 30 คน โดยมีนายธนภาค พุ่มโกมุท หัวหน้ากองบริหาร นางณิษา ปฐมเรืองกุล ผู้บริหารจากโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ให้ข้อมูลพร้อมนำชมรถมินิบัสโดยสารไฟฟ้าคันจริง ตลอดจนนำเสนอกิจกรรมของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาคารเดอะบล็อกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นแหล่งจัดจำหน่ายสินค้าชุมชน และจัดแสดงนวัตกรรมเพื่อชุมชนแม่เมาะ


ในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 จะเป็นวันแรก ที่รถรับส่งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ทั้ง 28 คัน ถูกเปลี่ยนจากรถบัสดีเซลเป็นรถมินิบัสไฟฟ้า ขนาด 31 ที่นั่ง ความยาว 8.5 เมตร อัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้าเฉลี่ย 1.2 กม./kWh ระยะวิ่งต่อรอบการชาร์จไม่ต่ำกว่า 150 กิโลเมตร โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้รถบัสโดยสารน้ำมันแบบเดิม จะช่วยลดการกีดขวางทางจราจรใน จ.ลำปาง เนื่องจากขนาดรถที่เล็กลง ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 0.48 กิโลกรัม/กิโลเมตร/คัน* ลดการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากการสันดาปของเครื่องยนต์ลงได้ 27 มิลลิกรัม/กิโลเมตร/คัน** และประหยัดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงมากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ยังถือเป็นหน่วยงานแรกของ จ.ลำปาง ที่นำเทคโนโลยีรถไฟฟ้าดังกล่าวมาใช้ในภาคขนส่ง สนับสนุนการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของ จ.ลำปาง อีกด้วย


ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่สนองนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ประเทศไทย ของ กฟผ. ด้วยการตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 และตั้งเป้าหมาย เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ตามกลยุทธ์ “Triple S” ได้แก่ S – Sources Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ S – Sink Co-creation การดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และ S – Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม


*อ้างอิงจาก : อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้จากการคำนวณปริมาณการใช้เชื้อเพลิงต่อกิโลเมตร ร่วมกับ Emission Factor ของรถบัสดีเซล : 2.556 kgCO2/L (Ministry of Environment, Victoria, B.C., November, 2014 )
**อ้างอิงจาก : มาตรฐาน Euro4 จำกัดการปล่อย PM2.5 ของรถ Heavy Duty Diesel : 0.027g/km (เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย)

 

ภาวินันท์​ บุตร​หล้า​ รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป