สื่อมวลชนภาคใต้สุดทนปัญหาสินค้าเถื่อน บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อน
สื่อมวลชนภาคใต้สุดทนปัญหาสินค้าเถื่อน บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนเมือง สงขลา สตูล ยะลา นราธิวาสเป็นประตูทางเข้า แหล่งพักและขายปลีก แฉชาวบ้านรู้ขายตรงไหนแต่เจ้าหน้าที่แค่จับเอาหน้า แถมอมเงินรางวัลนำจับ เปิดช่องพ่อค้านำกลับมาขายใหม่ เสนอทางแก้ จับได้ให้ทำลายของกลางทันที ยกระดับเป็นปัญหาความมั่นคงแห่งรัฐ จังหวัดไหนแก้ปัญหาไม่ได้ให้ย้ายผู้ว่าฯออกนอกพื้นที่ ทำอย่างนี้จึงจะปกป้องเด็กและเยาวชนได้
มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับสื่อมวลชนในจังหวัดสงขลา จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป ในหัวข้อ “ปัญหาบุหรี่เถื่อน-สินค้าผิดกฎหมาย ชายแดนใต้ … แก้ไม่ได้จริงหรือ ?” เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 ที่ โรงแรมดับเบิ้ลยู ทรี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโสเป็นผู้ดำเนินรายการ
นายแพทย์กู้ศักดิ์ บำรุงเสนา นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงาน สาธารณสุข จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงสถานการณ์การควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทยพบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ร้อยละ 17.4 คิดเป็นประมาณ 9.9 ล้านคน เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่อ อายุเฉลี่ย 18.5 ปี อายุต่ำสุด 6 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายคิดเป็น 26.7 เท่าของผู้หญิง ส่วนจังหวัดสงขลาอัตราการบริโภคยาสูบในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 27.7 เป็นอันดับ 6 ของประเทศ สูงกว่าอัตราการบริโภคยาสูบของ ประเทศและเขตสุขภาพ ซึ่งจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 มีอัตราการบริโภคยาสูบสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศคือจังหวัดสงขลา สตูล พัทลุงและจังหวัดตรังและยังพบว่าอายุน้อยที่สุดที่เริ่มสูบบุรี่ของจังหวัดสงขลาคือ 12 ปี ส่วนข้อมูลล่าสุดในปี 2565 อำเภอที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ อ.สะบ้าย้อย ร้อยละ 30.63 รองลงมาคือ อ.คลองหอยโข่ง ร้อยละ 17.4 และอำเภอนาทวี ร้อยละ 16.93 จากรายงานภาวะโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2562 พบการบริโภคบุหรี่เป็นอันดับ 2 ของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต โดยเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตประมาณ 85,000 กว่าคน ซึ่ง 5 โรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดบวม โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน
ส่วนสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 มีการสำรวจคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปพบว่ามีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 80,000 คน มากกว่าครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ปัจจุบันมีการนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่น เนื่องจากพกพาและสูบง่ายกว่าบุหรี่มวน มีการแต่งกลิ่น และที่สำคัญคือความเข้าใจผิดคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย สูบแล้วไม่ติด ซึงในความเป็นจริงแล้ว ในควันของบุหรี่ไฟฟ้ามีทั้งสารนิโคตินและโลหะหนักหลายชนิด ที่ส่งผลให้เกิดการเสพติดและเป็นพิษต่อร่างกาย และยังพบอีกว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่มวน แถมยังมีโอกาสที่จะเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ส่วนการเลิกสูบบุหรี่พบว่า ร้อยละ 80 สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง สามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น สร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองอาจเกิดจากบุคคลที่เรารัก ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ
นายสถาพร เกียรติอนันต์ชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์บุหรี่เถื่อนทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ายังมีความรุนแรงอยู่ไม่ได้ลดลงเพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจเพิกเฉยไม่บังคับใช้กฎหมาย เห็นกันอยู่ชัดๆว่าบุหรี่เถื่อนมีขายที่ไหนบ้างเช่น อ.หาดใหญ่ แถว 4 แยกน้ำพุจะไปซื้อเมื่อไรก็ได้ มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่เถื่อนหรือสินค้าหนีภาษีมีเงินรางวัลนำจับด้วย แต่ในสภาพความเป็นจริงคนนำจับไม่ได้เงินตามที่กฎหมายกำหนดเช่นถ้ายอดเงิน 100,000 บาท คนนำจับได้แค่ 20,000 บาทส่วนที่เหลืออีก 80,000 บาทไปตกอยู่ในมือของคนไม่เกี่ยวข้องทำให้ประชาชนไม่อยากจะแจ้งเบาะแส นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของกลางที่จับได้มักจะถูกวิ่งเต้นจากพ่อค้าหรือมาประมูลกลับไปแล้วนำกลับมาขายใหม่ จึงเป็นปัญหาทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่
ส่วนแนวทางแก้ไขควรทำอย่างไรนั้น มีทั้งการปราบปรามบังคับใช้กฎหมาอย่างจริงจังรวมทั้งการแก้ไขกฎหมายอาญา กฎหมายศุลกากร เช่นกฎหมายศุลกากรเมื่อจับแล้วมาสารภาพแล้วยกของกลางให้รัฐพวกพ่อค้าก็จะไปซื้อกลับมา ดังนั้นสินค้าที่ยึดมาแล้วให้ทำลายเลยไม่ควรจะนำกลับมาขายทอดตลาด ตามกฎหมายสินค้าที่ยึดมาได้มีแนวปฏิบัติ 3 แนวทางคือ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ,ศาลสั่งให้ทำลายและศาลสั่งทำให้ใช้ไม่ได้ ดังนั้นควรจะใช้แนวทางศาลสั่งให้ทำลายสินค้าเหล่านี้ให้หมดจะดีที่สุด เช่นเดียวกันกับปัญหายาเสพติดที่จับได้ตามแนวชายแดนก็ควรจะเผาทำลายกันในพื้นที่ที่จับได้เพราะถ้าปล่อยให้นำเข้ามาที่ส่วนกลางมีโอกาสที่จะสูญหายหรือยักยอกไประหว่างทางได้ สำหรับคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบจังหวัดสงขลาควรจะมุ่งมั่นจริงจังทำงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องมีข้อมูลให้เห็นผลการดำเนินงานด้วยเพราะถ้าจริงจังจะเห็นผลเป็นรูปธรรมแน่นอน จะส่งผลให้เด็กและเยาวชน ประชาชนเข้าถึงบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้าได้น้อยลงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางควบคู่ไปกับการให้ความรู้และรณรงค์
นายภูวสิษฎ์ สุกใส บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ภาคใต้โฟกัส ในฐานะสื่อมวลชนที่เข้าไปมีบทบาทเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดสงขลากล่าวว่าสถานการณ์ยังคงรุนแรงอยู่ทั้งจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูลและจังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะเป็นทั้งประตูทางเข้า เป็นทั้งแหล่งกระจายสินค้าและการขายสินค้าเถื่อน สินค้าหนีภาษีโดยเฉพาะบุหรี่ เมื่อไม่นานมานี้ได้พบปะกับผู้บริหารท้องถิ่นแห่งหนึ่งบอกว่าปัจจุบันรายได้จากภาษีท้องถิ่นลดลงเพราะสินค้าเถื่อนและสินค้าหนีภาษี ไปถามชาวบ้านใน อ.หาดใหญ่ก็รู้ว่าจะซื้อบุหรี่เถื่อนจากไหน ทั้งตลาดใหม่ ถ.นิพัทธ์สงเคราะห์ ถ.นวลแก้วอุทิศก็หาซื้อได้ ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมาย ตามน้ำบ้างหลับตาข้างหนึ่งบ้าง เป็นความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน ลองไปถามดูได้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ใครๆก็อยากจะมาอยู่สงขลา อ.หาดใหญ่ สะเดา ปาดังเบซาร์ อยู่จ.สตูลที่ด่าน วังประจัน อยู่ยะลา อ.เบตง หรืออยู่นราธิวาส อ.สุไหงโกลก เพราะนี่คือประตูทางเข้าของสินค้าผิดกฎหมาย
ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนในจังหวัดสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาก็เคยเสนอทั้งข่าว รายงานและบทวิเคราะห์ในเรื่องเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตื่นตัวเป็นครั้งคราวทำกันแบบไฟไหม้ฟางสุดท้ายก็เป็นเหมือนเดิม ดังนั้นแนวทางที่ควรจะทำคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจังตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง ไม่รับผลประโยชน์ไม่ปากว่าตาขยิบปัญหาก็จบ และต้องยกระดับเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐเป็นวาระชัดเจนตั้งแต่ระดับชาติลงมาจนถึงจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดก็ต้องเอาจริงถ้าพบว่ายังมีการค้าบุหรี่เถื่อนในพื้นที่หรือไปปกป้องพ่อค้าก็ต้องถูกย้ายอยู่ในจังหวัดไม่ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องให้อำนาจผู้ว่าฯเสนอย้ายตำรวจ ย้ายสรรพสามิต หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่บกพร่องไม่ยอมบังคับใช้กฎหมายได้ ปัญหาของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดคือทุกหน่วยงานคิดว่าเป็นงานฝากหมด ไม่มีเจ้าภาพ ส่งตัวแทนมาประชุมไม่ใช่ตัวจริง ประชุมกันปีละครั้งก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งๆที่ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกยินดีมาร่วมประชุมกันเดือนละครั้งไม่จำเป็นต้องมีค่าตอบแทนก็ได้เพียงแต่ให้ฝ่ายเลขาอำนวยความสะดวกให้เท่านั้น
ส่วนในห้องประชุม นายธีรพงษ์ ธีรเสถียรภาคย์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด บอกว่า “ปัญหาสินค้าผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่กล้าแจ้งเบาะแส เพราะกลัวอันตราย” ส่วนนายนราธิป ขุนเจริญ บก. ข่าวเว็ปไซด์ชูประเด็นข่าวใต้ บอกว่า “ความจริงกฎหมายมีบทบังคับใช้ครบทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน” ขณะที่นางสาวนรารัตน์ ศรีเปารยะ ผู้สื่อข่าว Hi Cable TV กล่าวว่า “หน้าที่สื่อมวลชน นอกเหนือจากทำหน้าที่สื่อข่าวแล้ว ควรทำหน้าที่สื่อรณรงค์ด้วย เพื่อช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายสะท้อนว่าในการจับแหล่งที่ขายของผิดกฎหมายก็จะจับแต่ร้านเดิม ๆ สักพักก็กลับมาเปิดขายได้อีก ก็ต้องย้อยกลับไปถามผู้บังคับใช้กฎหมายว่าเพราะอะไร จับพอเป็นพิธีหรือเปล่า” ส่วน ผศ.สุพจน์ โกวิทยา ที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ปัญหาความรุนแรงของการเสพติดบุหรี่ในพื้นที่ภาคใต้ ที่รุนแรงมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ มีมาต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อระยะยาวต่อเด็กและเยาวชนมีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตตามมา ขณะที่คนทำงานมีจำนวนจำกัด แต่ประเด็นที่จะต้องขับเคลื่นมีเพิ่มมากขึ้น ได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาโดยเสนอให้ มสส. ควรไปคุยกับคณะวิทยาการสื่อสารของ ม.อ. ซึ่งมีกรณีศึกษากับคนรุ่นใหม่และมีการดึงเด็ก เยาวชน เข้ามาเรียนรู้เพื่อที่จะผลิตสื่อเพื่อให้เข้าถึงและตรงใจกับเด็กและเยาวชนในการแก้ปัญหาดังกล่าวในภาคใต้ต่อไป”
สุดท้าย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวขอบคุณและระบุว่าจากการประชุมในวันนี้ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นถึงสถานการณ์ปัญหาบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ไฟฟ้า ที่เข้ามาตามชายแดนว่ามีผลกระทบต่อการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ภายในประเทศ สื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องผนึกพลังกันเป็นเครือข่ายร่วมกันปกป้องเริ่มจากดูแลคนใกล้ตัวและมีบทบาทร่วมสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะให้ตื่นตัวรู้เท่าทัน และจะนำข้อคิดเห็นต่างๆ ไปผลักดันกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป็นนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายต่อไป