กาฬสินธุ์เดินหน้าป้องกันควบคุมโรคด้วยกลไกเครือข่ายพหุภาคี
จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการป้องกันควบคุมโรค และภัยสุขภาพด้วยกลไกเครือข่ายพหุภาคี เพื่อคนกาฬสินธุ์อยู่ดีมีสุข ตามแนวคิด “โฮมสุข โฮมใจ เพื่อไทกาฬสินธุ์” เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ และพัฒนาระบบริการสาธารณสุขให้เข้าถึงได้ง่าย ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) และการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ด้วยกลไกเครือข่ายพหุภาคี เพื่อคนกาฬสินธุ์อยู่ดีมีสุข ประจำปี 2566 โดยมีนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นพ.วิทยา วัฒนเรืองโกวิท นายแพทย์สาธารณสุขจ.กาฬสินธุ์ นพ.ศิวบูรณ์ ศรีสงคราม รองอำนวยการ รพ.กาฬสินธุ์ พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 51 แห่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์ จำนวน 12 แห่ง กำนัน ประธาน อสม. ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) ด้านการถ่ายโอนภารกิจ กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถ่ายโอนสถานีอนามัย ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์สุขภาพดำเนินการตามภารกิจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุม บำบัดโรคและรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยในระยะแรก ให้ถ่ายโอนตามความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และระยะสุดท้าย หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดไม่พร้อมรับการถ่ายโอน ก็ให้ถ่ายโอนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด
ด้านนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า อบจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2565 จำนวน 51 แห่ง จาก 156 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ จาก 18 อำเภอ ใน จ.กาฬสินธุ์ทำให้เรามีหน้าที่ดำเนินการบริหารภารกิจด้านสาธารณสุขของ สอน./ รพ.สต. ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐาน ครอบคลุมทั้งด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งเป็นภารกิจในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นางเฉลิมขวัญกล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาโรคและภัยสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายโดยเฉพาะ การบูรณาการความร่วมมือ ด้วยกลไกเครือข่ายพหุภาคี โดยใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อน การดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการพัฒนา สอน./ รพ.สต. ตามแนวคิด “โฮมสุข โฮมใจ เพื่อไทกาฬสินธุ์” เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ และพัฒนาระบบริการสาธารณสุขให้เข้าถึงได้ง่าย ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ ที่ใกล้บ้าน ใกล้ใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนกาฬสินธุ์ ให้อยู่ดีมีความสุข
ทั้งนี้ จากความสำคัญ อบจ.กาฬสินธุ์ และคณะกรรมการพัฒนา สอน./ รพ.สต. จึงได้ร่วมจัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการป้องกันควบคุมโรค และภัยสุขภาพด้วย กลไกเครือข่ายพหุภาคี เพื่อคนกาฬสินธุ์อยู่ดีมีสุข ประจำปี 2566 ดังกล่าว