พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธานเปิดการอบรมยกระดับความสามารถการตรวจเรือประมงและแรงงานในเรือประมงของศุนย์ PIPO รุ่น 10
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธานเปิดการอบรมยกระดับความสามารถการตรวจเรือประมงและแรงงานในเรือประมงของศุนย์ PIPO รุ่น 10
วันนี้ (13 ก.ค.66) เวลา 11.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ได้เป็นประธานในการเปิดโครงการอบรมสัมมนา ยกระดับขีดความสามารถในการตรวจเรือประมงและแรงงานในเรือประมงของผู้ปฏิบัติงานศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก รุ่นที่ 10 ณ โรงแรมมณีจันทร์ รีสอร์ท จ.จันทบุรี โดยจะอบรมระหว่างวันที่ 12 – 14 ก.ค.66 ซึ่งในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และพนักงานสอบสวน รวมจำนวนกว่า 702 คน
การจัดการฝึกอบรมนี้ สืบเนื่องจากการประเมินระดับการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของทางการสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยได้รายงาน TIP Report และได้รับคำแนะนำเป็นข้อสังเกตว่า ประเทศไทยยังต้องมีการพัฒนาการตรวจแรงงานที่ท่า ซึ่งยังไม่ได้ใช้วิธีการตามมาตรฐานในการตรวจสอบการสูญหายในทะเล และการค้ามนุษย์บนเรือประมง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ยังขาดความสม่ำเสมอและขาดประสิทธิภาพในการตรวจเนื่องจากยังขาดประสบการณ์ ดังนั้น ในปีที่ผ่านมา ศพดส.ตร. จึงได้มีการปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติงานศูนย์ PIPO ประจำปี 2566 โดยมุ่งพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ เพิ่มแนวทางปฏิบัติกรณีพบลูกเรือพลัดตกน้ำ การตรวจหนังสือคนประจำเรือ การตรวจคุ้มครองแรงงานบนเรือประมง และตรวจสภาพแวดล้อมของแรงงานเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้เป็นการยกระดับมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้มีแผนที่จะอบรมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO ทั่วประเทศในปีนี้จำนวน 10 รุ่นด้วยกัน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การอบรมสัมมนารุ่นนี้ เป็นรุ่นสุดท้ายประจำปีงบประมาณ 2566 เป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความรู้เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO ซึ่งในปีนี้ ศพดส.ตร. จึงได้มีการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO รวมทั้งจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพในการตรวจแรงงานในเรือประมง รวมทั้งสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยก้าวหน้าไปอีกขึ้นหนึ่ง และยกระดับประเทศไทยสู่เทียร์ 1 ต่อไป