“อลงกรณ์”เสนอ 5 หลักคิดให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาโหวตนายกรัฐมนตรี หวังทุกฝ่ายยึดสันติวิธีหลีกเลี่ยงวิกฤติการเมืองซ้ำเติมประเทศ
“อลงกรณ์”เสนอ 5 หลักคิดให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาโหวตนายกรัฐมนตรี หวังทุกฝ่ายยึดสันติวิธีหลีกเลี่ยงวิกฤติการเมืองซ้ำเติมประเทศ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เขียนเฟสบุ๊คส่วนตัววันนี้(13 ก.ค.)เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยมีข้อความว่า
“…บ้านเมืองของเรามาถึงทางแพร่งที่สำคัญในวันนี้ สืบเนื่องจากการเลือกตั้งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว คือการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยรัฐสภา
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคที่ได้รับเสียงเลือกตั้งอันดับ 1 และรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรรวมตัวเป็นกลุ่ม 8 พรรคการเมืองมีเสียงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศหรือไม่ ขึ้นกับการโหวตของสมาขิกรัฐสภาในวันนี้
สมาชิกรัฐสภา 750 ท่านประกอบด้วย
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คนและสมาชิกวุฒิสภา 250 คนจะใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง 1.สนับสนุน
2.ไม่สนับสนุน 3.งดออกเสียง
ผมเคยให้ความเห็นส่วนตัวว่า ในฐานะเป็นอดีต ส.ส.และสมาชิกรัฐสภา 6 สมัยได้เสนอข้อพิจารณาเป็นหลักยึดหลักคิดในการโหวต
1.เคารพผลการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งคือความต้องการของประชาชน
2.ยึดหลักการเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พรรคที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี
3.การออกเสียงลงมติของสมาชิกรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์
4.สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อปวงชนชาวไทยคือประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยใช้สิทธิในการเลือกตั้งโดยตรงไม่ผ่านระบบผู้แทนปวงชนชาวไทยแล้ว ผู้แทนปวงชนชาวไทยพึงเคารพการตัดสินใจของปวงชนชาวไทย
การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยมี 2 กรณีที่ใช้สิทธิอำนาจโดยตรงไม่ผ่านระบบผู้แทนฯ.คือ การเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ
5.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองมีระบบพรรคที่ต้องปฏิบัติตามมติ ซึ่งเป็นระบบที่ถือปฏิบัติทุกพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีมติงดออกเสียง สมาขิกพรรคและผมต้องถือปฏิบัติในทางเดียวกัน ซึ่งต่างจากสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สังกัดพรรค
ความเห็นของผมอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ไม่เกี่ยวกับนายพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นการสนับสนุนหลักการที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น
ไม่ว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีจะปรากฏผลเป็นประการใด ผมยอมรับเพราะผมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เพียงหวังว่า สมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรักชาติศาสนากษัตริย์จะตัดสินใจโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยความเป็นอิสระไม่อยู่ใต้อาณัติใดๆตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ผมเพียงหวังที่จะเห็นการตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเป็นไปโดยราบรื่นและรวดเร็วตามครรลองประชาธิปไตย
ประเทศของเราอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและไม่ควรจะเกิดวิกฤติทางการเมืองมาซ้ำเติม
ทุกฝ่ายทั้งในและนอกสภารักประเทศชาติไม่น้อยไม่มากไปกว่ากัน อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันแต่ไม่ใช่ความแตกแยก พึงเคารพความแตกต่างอย่างสันติวิธี
ประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยความเกลียดชัง และประเทศไม่สามารถสร้างขึ้นได้บนซากปรักหักพัง
เรามีบทเรียนของวิกฤติทางการเมืองมาหลายครั้ง สูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อมาหลายครา ขอให้บทเรียนในอดีตเป็นอุทาหรณ์สอนใจเตือนสติทุกท่าน อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกเลย.
อลงกรณ์ พลบุตร
13 กรกฎาคม 2566..”