15/11/2024

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชิญชวนประชาชน “ทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ 40 ข้อ ได้รับ Whoscall Premium ใช้ฟรี 1 ปี และลุ้นรับ iPhone 14 จำนวน 60 เครื่อง ”

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชิญชวนประชาชน “ทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ 40 ข้อ ได้รับ Whoscall Premium ใช้ฟรี 1 ปี และลุ้นรับ iPhone 14 จำนวน 60 เครื่อง ”
เนื่องจากในรอบสัปดาห์ มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีปลอมเสียงเป็นบุคคลอื่นโทรศัพท์หลอกลวงเพื่อยืมเงิน สร้างความเสียหายและความกังวลให้กับพี่น้องประชาชน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วยคณะทำงาน แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2566 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.กล่าวว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-8 ก.ค.2566) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มองในภาพรวมแล้ว สถิติการรับแจ้งลดลงเพียงเล็กน้อย จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบ สำหรับคดีออนไลน์ที่คนร้ายนำมาหลอกลวงซ้ำเติมประชาชนในช่วงนี้ คือ ลำดับ 7 การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน และจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด มีการรับแจ้ง จำนวน 10,425 เคส ความเสียหาย 370 ล้านบาทเศษ โดยคนร้ายใช้วิธีการปลอม Facebook ไลน์ และโทรศัพท์หลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน แต่ช่วงนี้คนร้ายใช้วิธี“ปลอมเสียง”เป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน ซึ่งเป็นการพัฒนาวิธีการหลอกลวงของคนร้าย ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ

พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รอง ผบก.ตอท.บช.สอท. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คนร้ายจะโทรศัพท์หาเหยื่อ แกล้งถามว่า “ทำอะไรอยู่และจำได้หรือไม่ว่าเป็นใคร” เหยื่อพยายามคิดว่าเสียงเหมือนใคร แล้วบอกชื่อไป คนร้ายจะสวมรอยเป็นคนนั้นทันที แล้วบอกว่าเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือ จากนั้นให้เหยื่อบันทึกชื่อใหม่ไว้ วันต่อมาคนร้ายโทรศัพท์มาอ้างว่ามีเรื่องต้องใช้เงินด่วน ซื้อของแล้วเงินไม่พอ หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินอื่นๆ แต่ลืมเอาบัตรเอทีเอ็มมา หรือแอปพลิเคชันธนาคารใช้ไม่ได้ แล้วแจ้งเลขบัญชีม้าเพื่อให้โอนเงินให้ โดยรับปากว่าจะคืนเงินให้ตอนเย็น สำหรับช่วงนี้คนร้ายใช้โปรแกรม แอปพลิเคชัน หรือเทคนิคใดๆ ปลอมเสียง แล้ว โทรศัพท์หาเหยื่อโดยเรียกชื่อเหยื่อได้อย่างถูกต้อง และบอกชื่อคนที่ถูกปลอมเสียงให้เหยื่อทราบ แล้วหลอกให้โอนเงินโดยใช้วิธีการเดียวกันข้างต้น
จุดสังเกตุ
1. คนร้ายมีข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ ชื่อ หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ของคนที่ถูกแอบอ้างและเหยื่อ
2. ชื่อบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน (บัญชีม้า) ไม่ตรงกับคนที่คนร้ายแอบอ้าง
วิธีป้องกัน
1. ให้สอบถามรายละเอียดเชิงลึกระหว่างคนที่ถูกแอบอ้างกับเหยื่อหรือผู้ที่ได้รับโทรศัพท์คนร้าย
2. ให้ติดต่อกลับทางช่องทางอื่น เช่น ไลน์ facebook หรือหมายเลขโทรศัพท์เดิม
3. กรณีให้โอนเงินเข้าบัญชีคนอื่นหรือบัญชีม้า โดยอ้างว่าเป็นบัญชีของเลขา ร้านค้า เพื่อน หรืออื่นๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นคนร้าย
4. ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่คนร้ายใช้ด้วยแอปพลิเคชัน Whoscall (เป็นแอปพลิเคชันแจ้งเตือนเบอร์มิจฉาชีพที่โทรเข้ามาได้เบื้องต้น)
ในทางเทคนิคแล้วผู้เชี่ยวชาญแจ้งว่ากรณีคนร้ายปลอมเสียงผู้อื่นนั้นสามารถทำได้ แต่ยังไม่ได้มีการนำเสียงที่คนร้ายใช้ เปรียบเทียบกับเสียงจริงของบุคคลที่ถูกคนร้ายแอบอ้าง จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าได้มีการนำเทคโนโลยีตามที่ปรากฎเป็นข่าวมาใช้หลอกคนไทยแล้วหรือไม่ แต่จากข้อมูลการใช้ voice.ai มาหลอกลวงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการหลอกญาติหรือคนรู้จักที่คอนข้างสนิทกัน ต้องมีตัวอย่างเสียงคนถูกแอบอ้างและรู้ข้อมูลผู้ถูกแอบอ้างและเหยื่อในระดับหนึ่ง

พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ตระหนักดีว่า การควบคุมอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำเป็นต้องใช้การปราบปรามควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เหตุเกิด สำหรับวิธีการป้องกันนั้นต้องใช้วิธีสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชนได้รู้เท่าทันกลโกงและวิธีการหลอกลวงของคนร้าย จึงสั่งการให้จัดทำแบบทดสอบโดยอาศัยแผนประทุษกรรมของคนร้าย สถิติและประเภทคดี มาวิเคราะห์และจัดทำแบบทดสอบ หากประชาชนได้อ่านและทำแบบทดสอบจนครบทั้ง 40 ข้อ แล้วจะทำให้รู้ว่าคนร้ายใช้จุดอ่อนด้านใดของเหยื่อมาหลอกลวง วิธีการหลอกลวงของคนร้าย วิธีรับมือคนร้าย และวิธีป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ อีกทั้งจะทำให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการป้องกันตนเองและผู้อื่นได้ จะขอให้ พล.ต.ต.ปรัชญา ประสานสุข รอง ผบช.ภ.2 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแบบทดสอบให้ทราบ
พล.ต.ต.ปรัชญา ประสานสุข รอง ผบช.ภ.2 กล่าวว่า แบบทดสอบสำหรับประชาชน จะมีอยู่ด้วยกัน 40 ข้อ จะเปิดให้ประชาชนเริ่มทำข้อสอบได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยสามารถเข้าทำแบบทดสอบได้ใน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) สแกนคิวอาร์โค้ด 2) เข้าเว็ปไซต์ไซเบอร์วัคซีน และ 3) ทำแบบทดสอบเมื่อครูไซเบอร์ไปให้ความรู้ในพื้นที่ โดยเป็นการเข้าแบบทดสอบผ่าน Google Form สำหรับทำแบบทดสอบ ( หากไม่ชิงรางวัล สามารถทำแบบทดสอบได้เลย ) และจะสามารถดูเฉลยได้เมื่อทำข้อสอบเสร็จ กด “ดูคะแนน”
กรณีต้องการรับสิทธิเพื่อชิงรางวัลต้องดำเนินการ ดังนี้
1. กดลิงก์ “เข้าเว็บไซต์ไซเบอร์วัคซีน” จาก Google form หรือ เข้าผ่านเว็บไซต์
http://www.เตือนภัยออนไลน์.com และสมัครใช้งานและเข้าสู่ระบบไซเบอร์วัคซีนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว
(เข้าสู่ระบบผ่านไลน์)
2. ทำการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน หรือแอปพลิเคชัน THaiD
3. หน้าแรกของระบบไซเบอร์วัคซีน จะมีปุ่ม “ทดสอบ 40 คำถามสำหรับประชาชน” ให้กดเพื่อทำแบบทดสอบ
4. เลือกยืนยันความสมัครใจรับการทดสอบ และ กรอกอีเมล กรณีต้องการทราบผลคะแนนทางอีเมล
กรณีที่ทำข้อสอบครบ 40 ข้อแล้ว จะได้รับ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการ Whoscall Premium Feature ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 1 ปี หากทำแบบทดสอบได้คะแนนตั้งแต่ 35 ข้อ หรือคิดเป็น 87.5 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป จะมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล iPhone 14 และสามารถติดตามการจับรางวัลได้ทางช่องทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com โดยประชาชนสามารถทำแบบทดสอบได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สำหรับประชาชนที่ทำแบบทดสอบไปก่อนหน้านี้ แต่ต้องการได้รับสิทธิลุ้นรางวัล สามารถทำแบบทดสอบใหม่ได้ แต่จะได้รับสิทธิ Whoscall Premium และสิทธิลุ้น iPhone 14 เพียง 1 สิทธิ เท่านั้น

นาย กชศร ใจแจ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท Gogolook จำกัด กล่าวว่า บริษัท Gogolook จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall ในประเทศไทยเล็งเห็นถึงปัญหาอาชญากรรมทาง เทคโนโลยีของประเทศ และจำนวนอาชญากรรมที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น และมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง บริษัท Gogolook จำกัด จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ คณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันภัย อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (CYBER VACCINATED) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยบริษัท Gogolook จำกัด ได้สนับสนุน คณะทำงานในหลายๆ ด้าน เพื่อให้โครงการนี้ได้รับผลตอบรับที่ดี และสัมฤทธ์ผล โดยเริ่มจาก การสนับสนุน Whoscall Premium Gift Code ให้ผู้ที่เข้าร่วม ทำแบบทดสอบจำนวน 40 ข้อ เพื่อการเข้าใจ ถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยผู้ที่ได้เข้าร่วมทำแบบทดสอบ จำนวน 40 ข้อ เมื่อทำแบบทดสอบทั้ง 40 ข้อเสร็จสิ้น จะได้รับ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการฟีเจอร์เสริมต่างๆ จาก Whoscall Premium ได้ฟรีเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยฟีเจอร์พรีเมียม ของ Whoscall เป็นฟีเจอร์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ Whoscall เองให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว Whoscall เป็น แอปพลิเคชัน ที่ให้บริการฟรีอยู่แล้ว แต่หากมีการสมัคร Whoscall Premium ก็จะได้รับ ฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกสบายและการป้องกันขั้นสูงสุดได้แก่
● การอัปเดตฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพ และฐานข้อมูลของเบอร์โทรศัพท์ในระบบแบบอัตโนมัติ
ทำให้ผู้ใช้มีฐานข้อมูลล่าสุดอยู่ตลอด
● การ Block Spam Call แบบอัตโนมัติ สามารถบล็อกสายมิจฉาชีพได้ทันที
● Smart SMS Assistant ระบบการช่วยจัดการข้อความที่มีความเสี่ยง สามารถจัดหมวดหมู่ SMS และ
สแกนลิงก์อันตรายใน SMS
● URL Scanner สามารถนำลิงก์ URL มาตรวจสอบความปลอดภัย
● การใช้บริการ Whoscall โดยปราศจากสื่อโฆษณาต่างๆ
นอกจากประโยชน์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น Whoscall ยังคงพัฒนาระบบต่างๆเพิ่มขึ้นโดยตลอด เพื่อให้ผู้ใช้ บริการ Whoscall ได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และลดอัตราความเสี่ยงต่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี
โดยนอกจากการสนับสนุน Whoscall Premium Gift Code แก่คณะทำงานแล้ว บริษัท Gogolook จำกัด จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของ CYBER VACCINATED เพื่อให้โครงการดังกล่าว ประสบผลสำเร็จ ตามความตั้งใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถลดจำนวนอาชญากรรม และผลกระทบ จากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติผนึกกำลังส่วนราชการ เอกชน และภาคีเครื่องข่ายทำพิธีเปิดการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” เพื่อประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์ โดยใช้ข้อความที่เป็นสาระสำคัญ เดียวกันคือ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” อีกทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์จำนวน 40 ข้อ เพื่อรับสิทธิพิเศษ และลุ้นรับรางวัล ดังกล่าวข้างต้น และเชื่อมั่นว่าหากพี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ ทั้ง 40 ข้อ จะทำให้มีภูมิคุ้มกันหรือมีวัคซีนไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จึงขอประชาชนสัมพันธ์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนได้ทดสอบความรู้ ตามแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์(สำหรับประชาชน) ได้ ดังนี้
1. สแกน QR Code หรือตามลิงก์นี้ https://rb.gy/hl5ff
2. ช่องทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com และ https://pctpr.police.go.th
3. ช่องทางตามที่ครูไซเบอร์ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบ
และขอให้ช่วยกันแชร์เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบและทำแบบทดสอบจะได้มีภูมิคุ้มกันภัยกันทุกคน สำหรับภัยออนไลน์ที่คนร้ายแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นหลอกลวงขอยืมเงินนั้นมีหลายรูปแบบ และคนร้ายได้พัฒนารูปแบบใหม่ๆ ดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงวิธีการของคนร้าย จุดสังเกต และวิธีป้องกัน จะได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรสายด่วน 1441

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป