14/11/2024

ผบ.ตร.ผนึกกำลัง 20 กระทรวง พร้อมรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สื่อมวลชน กต.ตร.เปิดรณรงค์ “ร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง”

ผบ.ตร.ผนึกกำลัง 20 กระทรวง พร้อมรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สื่อมวลชน กต.ตร.เปิดรณรงค์ “ร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” สร้างการรับรู้ร่วมกัน เตรียมเปิดระดมจัดหนักกวาดล้างจับกุมซิมม้า บัญชีม้า และขยายครูไซเบอร์ พร้อมเชิญชวนประชาชน ทำข้อสอบวัคซีนไซเบอร์ และบอกต่อ เพื่อหวังคนไทยได้รับวัคซีนทั่วถึง สร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อออนไลน์

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พลเอก ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย เครือข่ายภาคเอกชนทั้งบริษัทน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า และ สื่อมวลชน และ กต.ตร. และสถานีตำรวจทั่วประเทศ ร่วมเปิดการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร.

สืบเนื่องจาก คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “คดีออนไลน์” เป็นอาชญากรรมที่ส่งผลสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างมาก แม้ว่า ตร.จะพัฒนาระบบแจ้งความออนไลน์ หรือร่วมผลักดัน พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพียงแค่ทำให้คดีลดน้อยลง
ผบ.ตร.เห็นว่า การที่จะป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้ดีที่สุดนั้น คือการสร้างความรู้ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกงของคนร้ายบนโลกออนไลน์ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะทำงานสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีกิจกรรมโครงการณรงค์ต่างๆ ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมถึงโครงการรณรงค์ในวันนี้
“ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” มีส่วนราชการร่วมดำเนินการ หน่วยงานระดับกระทรวง จำนวน 20 กระทรวง ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงสาธารณสุข
หน่วยงานระดับกรม จำนวน 9 กรม ประกอบด้วย กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการ
ขนส่งทางบก กรมศุลกากร กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการค้าภายใน กรมธุรกิจพลังงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมสรรพากร
หน่วยงานอิสระ จำนวน 4 หน่วย ประกอบด้วย สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสมาคมธนาคารไทย
กองทุน จำนวน 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย และ สำนักงาน
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ห้างสรรพสินค้า จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า ห้างสรรพสินค้าแมคโคร ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ค้าน้ำมัน จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท เชลล์(แห่งประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่(แห่งประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ยังมี รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง สื่อมวลชน จำนวน 11 แห่ง คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจระดับ กองบัญชาการ กองบังคับการ และสถานีตำรวจ ทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์โครงการโดยมีมาตรการสำคัญดังนี้
1) ร่วมกับทุกภาคส่วนและ กต.ตร.ในการสร้างการรับรู้ ต้านภัยออนไลน์ โดยใช้ข้อความที่เป็นสาระเดียวกันทุกหน่วยงานเป็น“ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” เพื่อสื่อสารข้อความดังกล่าวไปยังบุคคลากรในหน่วยงาน ประชาชนที่มาติดต่อราชการ หรือลูกค้าที่มาใช้บริการหรือซื้อสินค้า
2) ร่วมกับภาคการศึกษา อบรมให้ความรู้ภัยโกงทางไซเบอร์ พัฒนาหลักสูตรการเตือนภัยไซเบอร์ให้เหมาะสมกลุ่มเป้าหมายและอายุ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต้านภัยไซเบอร์สำหรับเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาในสถานบันการศึกษา
3)ร่วมกับภาคสื่อมวลชน นำเสนอข่าวเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะรายละเอียดขั้นตอนการโกง เพื่อเป็นแนวทางการป้องกัน รวมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่ข้อความ ข่าว รูป ป้ายประชาสัมพันธ์ เนื้อหาเกี่ยวกับเตือนภัยออนไลน์ระหว่างออกอากาศของช่องสื่อ
4) ร่วมกับภาครัฐ ผลิตแอพไซเบอร์วัคซีน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ยังสั่งการให้ทุกกองบัญชาการระดมกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ทุกประเภท ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2566 โดยเฉพาะบัญชีม้า ซิมม้า ที่เป็นต้นตอสาเหตุ ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเปิดบัญชีม้า ซิมม้า หากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจะมีโทษ
ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา ซื้อหรือขายบัญชีจะมีจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนมีข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดบัญชีม้า ซิมม้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที
นอกจากนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนและกำหนดแนวทางการบังคับใช้ พ.ร.ก. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่ง ผบ.ตร. เป็นประธานอนุกรรมการ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับธนาคาร สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เพื่อร่วมกำหนดมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ กำหนดเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจจะมีการกระทำความผิด ของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อระงับการทำธุรกรรม และส่งต่อข้อมูลกันเป็นระบบ ช่องทางติดต่อประสานงาน ทั้ง 21 ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และ ตร.

พร้อมสั่งย้ำทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการเพิ่ม ครูไซเบอร์ ให้เข้าถึงส่วนราชการ ภาคเอกชน สถานประกอบการ ร้านค้า ชุมชนต่าง เพื่อเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้ความรู้ประชาชน “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” พร้อมแนะนำให้ทำข้อสอบวัคซีน และบอกต่อคนอื่นๆ ให้ทำข้อสอบ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต้านภัยโกง

ผบ.ตร.กล่าวว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการรับแจ้งความออนไลน์ ผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 นับ
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566 พบว่ามีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวน 287,122 คดี เฉลี่ยวันละกว่า 800 คดี รวมมูลค่าความเสียหายเกือบ 40,000 ล้านบาท มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (คอลเซ็นเตอร์)
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ แถลงข่าวเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ ในหลายวิธี หลายช่องทาง เพื่อให้ประชาชนได้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ แต่ปรากฏว่ายังมีประชาชนตกเป็นเหยื่อของคนร้ายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงพิจารณาแล้วว่าภัยอาชญกรรมไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดำเนินการ จึงได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกสาร สื่อมวลชน และ คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ ทำพิธีเปิดการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” โดยให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์โดยใช้ข้อความที่เป็นสาระสำคัญ เดียวกันคือ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง”
และขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ ซึ่งได้รวบรวมมาจากกลโกงของคนร้ายและสิ่งที่ประชาชนควรรู้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีความรู้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์อีกทางหนึ่ง และขอให้บอกต่อเพื่อทำแบบทดสอบเพื่อให้มีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันภัยกันทุกคน และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ เชื่อว่าไซเบอร์วัคซีนนี้ ถือเป็นวัคซีนที่ดี เมื่อได้รับภูมิแม้เพียงครั้งเดียว ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ต่อเนื่องตลอดไป ถ้าคนไทยทุกคนได้รับวัคซีนนี้อย่างทั่วถึง จะเป็นการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลมากที่สุด ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรสายด่วน 1441 “

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป