26/12/2024

หมอแผนไทย ชู “ตรีผลา” อาหารเป็นยา ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พร้อมบูรณาการให้เข้าถึงและยั่งยืน ตั้งเป้าอยากเห็นคนไทยสุขภาพดี

54228670-C776-41EC-8880-32A06EC28D18

หมอแผนไทย ชู “ตรีผลา” อาหารเป็นยา ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พร้อมบูรณาการให้เข้าถึงและยั่งยืน ตั้งเป้าอยากเห็นคนไทยสุขภาพดี

กรมการแผนแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก ชูจุดแข็งสมุนไพรไทยช่วยโปรโมท อาหารไทยกินอาหารเป็นยา ให้คนไทยได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทยในรูปแบบของอาหารพร้อมผลักดันผู้ประกอบการใช้สมุนไพรไทยในการ ปรุงอาหาร คาดหวังอยากเห็นคนไทยมีสุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า ความเป็นมาของอาหารเป็นยา เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นสุขภาพประชาชนช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาเพื่อให้หันไปสนใจเรื่องของการกินสมุนไพร ตำรับอาหาร โดยมองว่าคือวิถีชีวิตชุมชนที่มีอยู่แล้ว ทำให้เป็นนโยบายเชิงสาธารณะเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และเกิดความยั่งยืน ซึ่งการกินอาหารให้เป็นยาอยู่คู่คนไทยมาช้านาน จึงมีการทำงานร่วมกับ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย. ได้ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน โดยมอบหมายให้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นแม่งาน ในการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องของสมุนไพรไทย เกี่ยวกับอาหารเป็นยา

ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดกิจกรรมนำร่องในจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร อาทิ เชียงราย สกลนคร จันทบุรี สระบุรี เป็นต้น จนประชาชนเข้าใจและให้การตอบรับเป็นอย่างดี กระทั่งเมื่อปีที่ผ่าน ภายงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 19 มีการเปิดตัวอาหารเป็นยา ด้วยเมนู “ส้มตำตรีผลา” จนมาถึงมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 20 นำเมนูไฮไลท์ ม๊อกเทลต้มยำ ดัดแปลงเป็นเครื่องดื่ม จากการนำเครื่องต้มยำตระไคร้กับมะกรูดต้มรวมกันกรองเอาแต่น้ำ อีกส่วนเป็นกระเจี๊ยบแดงต้ม ตัดรสชาติด้วยน้ำตาลเล็กน้อย นำ 2 อย่างมาผสมกันในอัตราส่วนที่เท่าๆ กันใส่เกลือเล็กน้อยเพิ่มรสชาด เติมโซดา วุ้นทำจากเครื่องต้มยำตกแต่งด้วยมะนาว พริก ใบมะกรูด กระเทียม เพิ่มสีสันและรสชาดให้น่าดื่ม และ เมนูหมูตุ๋นตรีผลา สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม นำมาเคี่ยวรวมกันและนำไปต้มกรองน้ำตุ๋นกับหมู สำหรับเมนูนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนที่เข้าร่วมอย่างล้นหลาม

“การเลือกใช้ตรีผลาเป็นผลไม้ 3 ชนิด ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ “ตำรับยาตรีผลา” มีตัวยา สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม มี 5 รส ได้แก่ รสเปรี้ยวฝาด ขม อมหวานและเค็ม สรรพคุณ แก้ไอ ขับเสมหะ ในตำราแพทย์แผนไทย ยาตรีผลา เป็นยาปรับธาตุ ช่วยรักษาความสมดุลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย ต่อมาพบว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน สมอไทย รสฝาด สรรพคุณ ระบายอ่อนๆ แก้พิษร้อนใน คุมธาตุ แก้ลมจุกเสียด มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มเซลส์ที่ทำงานเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน สมอพิเภก มีรสเปรี้ยวฝาด อมหวาน มีสรรพคุณตามตำรายาไทย แก้เสมหะ แก้ไข มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว และ มะขามป้อม มีรสเปรี้ยว ฝาดขม สรรพคุณแก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอและมีวิตามินซีสูง มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันและยับยั้ง การแบ่งตัวของไวรัส แก้ไอ ขับเสมหะและต้านหวัด อีกด้วย

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มอบป้ายโลโก้ให้ผู้ประกอบการ จากสตรีทฟู้ดร้านอาหารเครื่องดื่ม และโรงแรม กว่า 200 ร้านค้า ถ้านักท่องเที่ยวเห็นโลโก้พึงรู้ว่าร้านนี้มีเมนูอาหารเป็นยา โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ ถือว่าสร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้ชุมชนยั่งยืนและเครื่องหมายการันตีรับรองคุณภาพ ตลอดระยะเวลามีผู้ประกอบการผ่านการอบรมและได้รับป้ายรับรองอาหารเป็นยาหลายจังหวัด เช่น เพชรบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี น่าน พัทลุง เป็นต้น กำลังเริ่มกระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกำหนดมาตรฐานคุณสมบัติ ขั้นแรกต้องผ่านการตรวจสอบ 1) ผ่าน Clean Food Good Taste 2) มีเมนูชูสุภาพ ลดเค็ม ลดหวาน ลดมัน จากนั้นเข้าสู่กระบวนพิจารณาของกรมการแพทย์แผนไทยฯ อีก 4 ข้อ 1)ผู้ประกอบการต้องผ่านการอบรมหรือมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร 2) มีรายการอาหารที่เป็นสมุนไพรอย่างน้อย 1 เมนู 3) สมุนไพรต้องมาจากท้องถิ่นชุมชน ปลอดสารพิษ และ 4) สามารถบอกสรรพคุณเมนูในอาหารได้อย่างถูกต้อง

ผู้ประกอบการที่ได้ป้ายแล้วกรมการแพทย์แผนไทยฯ มีการติดตามประเมินผล หลังจากได้ป้ายรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยฯ ประชาชนให้การตอบรับมากน้อยเพียงใด พร้อมกับพยายามช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดมาช่วยสร้างการรับรู้เร่งเร่งสร้างมูลค่าให้ผู้ประกอบการ ผู้ที่สนใจข้อมูลองค์ความรู้อาหารเป็นยาหรือขั้นตอนการขึ้นทะเบียนรับรองสามารถไปดาวน์โหลดข้อมูลเว็บไซต์ สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกhttps://ittm.dtam.moph.go.th/

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป