24/01/2025

ปทุมธานี พุทธไทยและอินเดียร่วมจัดสัมมนานานาชาติ 10ประเทศ ชูไมตรี กรุณา สามัคคี สมาธิ สร้างสันติภาพโลก

E3624D91-DE6F-494C-AE21-7BB3CEBBC606

ปทุมธานี พุทธไทยและอินเดียร่วมจัดสัมมนานานาชาติ 10ประเทศ ชูไมตรี กรุณา สามัคคี สมาธิ สร้างสันติภาพโลก

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ได้เปิดเผยว่า มูลนิธิกากัน มาลิค, คุณนิชา บางเร และเครือข่ายในเขตเทศบาลอัมลา เมืองเบตุล รัฐมัธยประเทศอินเดีย จัดงานสัมมนาสันติภาพนานาชาติ ระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
มีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากวัดธาตุทองพระอารามหลวง นำโดยพระครูวิจิตรวีรญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธาตุทอง ประเทศไทย ตามด้วย คณะสงฆ์วัดธาตุทอง พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย, พระ ดร.พรชัย พลวธมฺโม ประธานองค์การพุทธโลก, ท่านวิทวัส ราชปักษี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ประเทศศรีลังกา และผู้นำองค์กรพุทธนานาชาติ จาก 10 ประเทศ ได้แก่ 1.ประเทศไทย 2.มาเลเซีย 3.เมียนมา 4.เกาหลีใต้ 5.บังคลาเทศ 6.กัมพูชา 7.เวียดนาม 8.ศรีลังกา 9.สหราชอาณาจักร และ10.อินเดีย โดยคณะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ไปยังอนุสรณ์สถาน ธีกษาภูมี (Deeksha Bhoomi) เมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฏระ ให้ชาวท้องถิ่นได้สักการะบูชา จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยัง เขตเทศบาลอัมลา เมืองเบตุล รัฐมัธยประเทศ สถานที่จัดงานสัมมนาสันติภาพนานาชาติ โดยมีผู้นำสตรีแกร่ง คือ คุณนิชา บางเร รองผู้บริหารระดับเขต เป็นผู้ประสานงานจัดงานในครั้งนี้ มีประชาชนมาร่วมงานกว่า 3,000 คน
สำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้ เริ่มจากผู้นำศาสนิกต่าง ๆ ในพื้นที่อีก 5 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาฮินดู เชน อิสลาม คริสต์ ซิกข์ ได้กล่าวถึงความร่วมมือ ความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน ไม่แบ่งแยก ศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม ชนชั้น ซึ่งนำไปสู่ความสุขและสันติภาพอย่างแท้จริง และทุกท่านยินดีให้ความร่วมมือทุกอย่าง ในการทำงานเพื่อสันติภาพ จากนั้น เป็นการกล่าวสุนทรพจน์ ของ นายกากัน มาลิค ประธานมูลนิธิกากัน มาลิค ตอนหนึ่งว่า “ในการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งนี้ เราได้มาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสร้างสันติภาพ ไม่ใช่เฉพาะในอินเดียเท่านั้น แต่หมายถึงทั้งโลก”
จากผู้นำองค์กรพุทธประเทศต่าง ๆ อาทิ นายวิเจยาดาสะ ราชปักษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กิจการทัณฑสถาน และการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ แห่งประเทศศรีลังกา ได้กล่าวเน้นถึงมิตรไมตรี และกรุณา นำพาสันติภาพ และได้อ้างอิงถึงพุทธพจน์ ในโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย, ด้าน พระ ดร.พรชัย พลวธมฺโม ประธานองค์การพุทธโลก กล่าวถึง ประเทศอินเดียซึ่งเป็นแผ่นดินแม่ของพระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งสันติ พระเจ้าอโศกส่งพระธรรมทูตไป 9 สาย ทำให้ธรรมะเผยแผ่ไปทั่วโลก บัดนี้ถึงเวลาที่ ธรรม จะกลับสู่มาตุภูมิอีกครั้ง ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย, ดร.ไล้เก็ตยง จากมาเลเซีย ที่ให้ทัศนะว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งสันติ และ เป็นเหตุผล สอนให้อดทน สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และดร.มิถิลา โชว์ดรี้ จากบังคลาเทศ กล่าวชื่นชมผู้จัดงาน นำโดย คุณนิชา บากเร ที่เสียสละอุทิศตน เพื่องานนี้ และสนับสนุนให้มีการสร้างผู้นำต้นแบบ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน และเป็นเอกภาพ เป็นต้น
โดย พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้นำเสนอผลงานวิจัยในระดับดุษฎีบัณฑิต ปริญญาเอก หัวข้อ “อนาคตภาพการขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรพุทธนานาชาติ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน” พบว่า “เราทุกคนต่างต้องการเห็นสันติภาพของโลก ที่เราทุกคนสามารถร่วมมือกันได้ ด้วยความเมตตา กรุณา เห็นอกเห็นใจ และความสามัคคี ซึ่งเป็นไปได้ถ้าเราร่วมมือกัน และที่สำคัญ มีวิสัยทัศน์เป้าหมายเดียวกัน เพราะที่ผ่านมา เราต้องเผชิญหน้ากับโควิด-19 ภัยสงคราม และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กระทั่งเราทุกคนต้องปรับตัวในการทำงาน ใช้เทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์และทำงานเป็นเครือข่ายองค์กร เพื่อสร้างสันติภาพโลก ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังเช่นที่ ดร.อัมเบดการ์ และเครือข่าย ดร.กากัน ทำมา สิ่งเหล่านี้ เริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา เพราะสันติสุขภายใน สร้างสันติภาพโลกได้”
หลังการสัมมนา คณะผู้นำองค์กรพุทธนานาชาติ นำโดย คุณกากัน มาลิค ได้เดินทางต่อไปยัง องค์กรบราห์มา กุมารี เป็นองค์กรที่เน้นเรื่อง สมาธิ เพื่อสันติภาพโลก โดยปัจจุบันมีสาขากว่า 5,000 แห่ง ใน 140 ประเทศ มีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ หลังชมประวัติความเป็นมา แนวคำสอน และการกล่าวสุนทรพจน์ โดยผู้แทนองค์กรบราห์มา กุมารี เชิญชวนนั่งสมาธิ ประกอบดนตรีราว 7 นาที ซึ่งสร้างความประทับใจกับทุกท่านมาก เพราะสันติสุขภายใน อันเกิดจากการทำสมาธิ ย่อมนำไปสู่สันติภาพโลกในที่สุด
โดยคณะได้มีโอกาสดีในการเยี่ยมชม นมัสการ พระเจดีย์สาญจีพุทธสถาน มรดกโลก 1 ใน 4 แห่งของอินเดีย (อีก 3 แห่ง คือ พุทธคยา มหาวิทยาลัยนาลันทา และถ้ำอชันตา) เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงโดม ครึ่งวงกลม สร้างโดยพระเจ้าอโศก มีอายุกว่า 2,200 ปี เป็นเจดีย์เดียวที่หลงเหลืออยู่ในบรรดา 84,000 เจดีย์ ที่พระเจ้าอโศกสร้าง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ และพระอรหันต์อีก 10 พระองค์ ที่เป็นพระธรรมทูต 9 สาย ยุคพระเจ้าอโศก สถูปแห่งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจี (Buddhist Monuments at Sanchi) เพราะจริง ๆ มีสถูปถึง 3 แห่ง และสิ่งก่อสร้างโบราณมากมายบนเขา ในเขตหมู่บ้านรายเสน เมืองโภปาล รัฐมัธยประเทศแห่งนี้
การสัมมนาครั้งนี้แม้เป็นช่วงระยะสั้น รวม 2 วัน เดินทางตั้งแต่ รัฐมหาราษฏระ เมืองนาคปูร์ อนุสรณ์สถานธีษา ภูมี แห่งการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ของ ดร.อัมเบ็ดการ์ และชาวอินเดีย 500,000 คน เมื่อปี พุทธศักราช 2500 เมืองเบตุล สถานที่สัมมนาสันติภาพนานาชาติ รัฐมัธยประเทศ และนมัสการกลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจี นับเป็นการเดินทางที่ทรหดแต่ก็คุ้มมาก ๆ การได้เห็นศรัทธาของชาวพุทธท้องถิ่นในอินเดีย รวมถึงเพื่อนต่างศาสนิก ที่มาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และสนใจ ตั้งใจฟังการสัมมนาอย่างจริงจัง เป็นสัญลักษณ์ว่า พุทธศาสนา คงจะได้กลับมารุ่งเรือง ในแผ่นดินมาตุภูมิ อย่างแน่นอน

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป