25/12/2024

11 ศิลปินแห่งชาติ ปลุกพลังสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์แก่ต้นกล้าวรรณกรรม โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น 7

S__4145280

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบงานเขียน อาทิ เรื่องสั้นนวนิยาย กวีนิพนธ์ และสารคดี สัมผัสประสบการณ์ เทคนิควิธี สร้างสรรค์งาน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น 7 จำนวน 65 คน ณ หออัครศิลปิน จังหวัดปทุมธานี

วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 น. นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ฯ เปิดเผยว่า การจัดการฝึกอบรม ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น 7 ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และงดการจัดกิจกรรมไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายหลังจากที่สถานการณ์ของโรคระบาดคลี่คลายลง สวธ.จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นอีกครั้งด้วยเห็นว่ากิจกรรมการฝึกอบรมลายลักษณ์วรรณศิลป์ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการสืบทอดรักษามรดกภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

และยังเป็นประโยชน์ต่อ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้ที่ต้องการจะเป็นนักเขียนในอนาคต ให้มีโอกาสได้เสริมสร้างประสบการณ์ ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ ฝึกฝนลีลาในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ พัฒนาทักษะกระบวนการคิดให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ตามแนวทางของตนเอง และยังมีโอกาสที่จะได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ อัครศิลปิน วิศิษฏศิลปิน ประวัติและผลงานของ ศิลปินแห่งชาติ จากนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่ภายในหออัครศิลปินแห่งนี้อีกด้วย

รองอธิบดี สวธ. กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการฝึกอบรมครั้งนี้ คือ การสนับสนุนจากศิลปินแห่งชาติ การฝึกอบรมในลักษณะนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากศิลปินแห่งชาติทุกท่านที่เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรม รวมถึงสังคมและประเทศชาติจะได้รับ ในนามของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอขอบคุณศิลปินแห่งชาติ และวิทยากรทุกท่าน ที่กรุณาสละเวลาให้เกียรติมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เข้าอบรม และหวังว่าผู้เข้าอบรมทุกคนจะนำความรู้ ประสบการณ์ คำชี้แนะ วิจารณ์ ที่ได้รับจากศิลปินแห่งชาติ และวิทยากร ไปปรับใช้กับการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้เข้าอบรมทุกคนในการที่จะร่วมกันรักษาสืบสาน และสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์เพื่อจรรโลงสังคมและวัฒนธรรมให้คงอยู่และดียิ่งขึ้นต่อไป

จากนั้น นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม ว่า เพื่อถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติ ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้ที่ต้องการจะเป็นนักเขียน จากทั่วประเทศ ในรูปแบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยในภาคทฤษฎีผู้เข้าอบรมจะได้รับการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานจากศิลปินแห่งชาติ ในภาคปฏิบัติ ผู้เข้าอบรมจะได้สร้างสรรค์ผลงานตามความถนัด เมื่อจบหลักสูตรศิลปินแห่งชาติจะพิจารณาคัดเลือกผลงานดีเด่น และนำไปจัดพิมพ์ในหนังสือลายลักษณ์วรรณศิลป์ 7 ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการแล้วยังได้เผยแพร่ผลงานของผู้เข้าอบรมไปยังนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และผู้อ่านทั่วไป เป็นการเปิดมุมมอง สร้างจินตนาการและสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ผู้อ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ต่อไป

ด้านนางนันทพร ศานติเกษม (ปิยะพร ศานติเกษม) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564 กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ตนเองได้มีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ ในการสร้างสรรค์งานเขียนด้านนวนิยายและอยากจะฝากถึงน้อง ๆ ว่าที่นักเขียนในอนาคตว่า ถ้าใครอยากเป็นนักเขียนต้องเริ่มสำรวจตัวเองเบื้องต้นก่อนว่า เป็นคนรักการอ่านไหม รักตัวอักษรไหม รักการเขียนไหม หากมีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน น้อง ๆ
ก็สามารถฝึกฝน พัฒนาทักษะ ให้เป็นนักเขียนที่ดีได้ เพราะการเขียนได้ เขียนดี และเขียนงาม จะสามารถก้าวสู่ความสำเร็จบนถนนนักเขียนได้แน่นอนในอนาคต

โดยการอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก 11 ศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ นายสถาพร ศรีสัจจัง นายเจริญ มาลาโรจน์ นางชมัยภร บางคมบาง นายไพวรินทร์ ขาวงาม รองศาสตราจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ นายจำลอง ฝั่งชลจิตร นางสาวอรสม สุทธิสาคร นางนันทพร ศานติเกษม นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร นางวรรณี ชัชวาลทิพากร และ ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน ได้แก่ นายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง และ นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรม ในการใช้ภาษาของตนเองให้สามารถหลอมรวมความรู้ ความคิด ทัศนคติและประสบการณ์

ด้วยกระบวนการคิดที่เป็นระบบสามารถสื่อสารไปยังผู้อ่านผ่านงานวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน และเมื่อจบหลักสูตรศิลปินแห่งชาติจะพิจารณาคัดเลือกผลงานดีเด่น ของผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 4 ประเภทได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ และสารคดี ไปจัดพิมพ์ในหนังสือลายลักษณ์วรรณศิลป์ 7 ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการแล้ว ยังได้เผยแพร่ผลงานของผู้เข้าอบรมไปยังนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และผู้อ่านทั่วไป เป็นการเปิดมุมมอง สร้างจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ผู้อ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ต่อไป

 

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป