25/12/2024

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล

35C4A40F-CA93-4DF5-B30C-23AF6BAD6127

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน สร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนและสังคม

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่มุ่งให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทุกประเภท ซึ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอันมาก สมควรที่จะแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมบูรณาการปฏิบัติกับหน่วยงานความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน ในระดับพหุภาคีและระดับสากล

จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.ต.ท.สรร พูลศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร., พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ผบก.ตท., พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ พร้อมผู้แทนจาก บช.ก., สตม., บช.ปส., บก.ปคม., บก.ปทส., ตท. และ ป.ป.ส. เดินทางไปร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 23 (The 23rd ASEAN Senior Officials Meeting on Transnational Crimes) (SOMTC) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 มิถุนายน 2566 ณ เมืองยอร์กยากาตาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ร่วมกับนายไมเคิล เทเน รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน พร้อมทั้งผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้(ประเทศคู่เจรจา SOMTC+3) สหภาพยุโรป(EU) ออสเตรเลีย รัสเซีย อินเดีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยมี พล.ต.อ.ลิสติโย ซิกิต ปราโบโว ผบ.ตร.อินโดนีเซีย และ พล.ต.ท.อกุส อันเดรียนโต ผู้บัญชาการตำรวจฝ่ายสอบสวนคดีอาญา
และประธานคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ให้การต้อนรับ

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ในการทำหน้าที่เป็นกลไกและหน่วยงานในการกำกับนโยบายของอาเซียนในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว ยังเป็นการดำเนินการภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งเป็นเสาหลักที่ 1 จาก 3 เสาหลักของอาเซียน โดยจะร่วมดำเนินการ ประสานงาน ดำเนินกลยุทธ์และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ และเน้นการติดตามผลตามแผนงานความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและปรับปรุง การประสานงานข้ามภาคส่วนและระดับพหุภาคี การยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาข้างต้นและประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้ความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ใน 10 สาขา ได้แก่ การลักลอบค้าอาวุธ(Arms smuggling) การก่อการร้าย(Terrorism) การฟอกเงิน(Money laundering) การละเมิดลิขสิทธิ์ทางทะเล(Sea piracy) การลักลอบขนคนโดยผิดกฎหมาย(Human smuggling) การค้ามนุษย์(Trafficking in persons) อาชญากรรมทางไซเบอร์(Cybercrime) อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(International economic crime) การลักลอบค้ายาเสพติด(Illicit drug trafficking) และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า(Illicit wildlife and timber trafficking) โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการป้องกันปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งทุกประเทศที่ร่วมประชุมได้ร่วมติดตามผลการปฏิบัติและพร้อมดำเนินการตามแผนความร่วมมือ ผลการประชุมหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า จากการเปิดประเทศภายหลังการคลี่คลายของสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด – 19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของหลายประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ ในประเทศไทย มีการฉ้อโกงออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา ศปอส.ตร.(PCT) ได้รับแจ้งเหตุแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กว่าหมื่นราย สร้างความเสียหาย กว่า 400 ล้านบาท ภายใน 1 สัปดาห์ โดย บช.สอท. ได้ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ โดยเชิญชวนผู้ใช้โทรศัพท์รายงานหมายเลขต้องสงสัย และผู้ให้บริการให้ความร่วมมือสืบสวนหมายเลขต้องสงสัยและบล็อคหมายเลขคนร้าย แล้วส่งข้อมูลมายังตำรวจไซเบอร์ ส่งผลให้การสืบสวนจับกุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับการค้ามนุษย์ ในห้วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ร่วมกับกัมพูชา ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ในเมืองสีหนุวิลล์ และช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ถูกหลอกผ่านทางโซเชียลมีเดียไปทำงาน แล้วถูกกักขัง บังคับใช้แรงงานกว่า 800 คน สำหรับการลักลอบค้ายาเสพติด ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านยาเสพติดเพื่อประชาคมที่มั่นคงของอาเซียนฯ และเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนด้านยาเสพติด(ASEAN-NARCO) โดยในครั้งนี้ได้พิจารณาความร่วมมือในโครงการต่อต้านยาเสพติดร่วมกับออสเตรเลีย สำหรับการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า มีการนำเทคโนโลยีระบบนิติวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรม DNA มาใช้เพื่อระบุตัวตนและจำแนกแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งนี้ การบริหารจัดการชายแดนแบบเชิงรุก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การปฏิบัติตามแผนความร่วมมือ การเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย คือกุญแจสำคัญในการปราบปราม สกัดกั้นและจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดในทุกรูปแบบ

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันอาชญากรรมข้ามชาติพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานความมั่นคงทั้งในและระหว่างภูมิภาคจะต้องส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับสากล นำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทในภาพรวม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย มีสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป