25/01/2025

พัทลุง-สสส.ดันทต.ชะรัด และอบต.เกาะหมาก ขึ้นเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายตำบลสุขภาวะสร้างชุมชนเข็มแข็ง-ร่วมแก้ปัญหา

4884384A-C9C8-4310-845F-F8A2C668FC8C

พัทลุง-สสส.ดันทต.ชะรัด และอบต.เกาะหมาก ขึ้นเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายตำบลสุขภาวะสร้างชุมชนเข็มแข็ง-ร่วมแก้ปัญหา

ภัยพิบัติ-ฟื้นฟูและอนุรักษ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
สสส.สำนัก 3 หนุนเสริม เทศบาลตำบลชะรัด อ.กงหรา พร้อมด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เป็น “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายกว่า 18 องค์กรปกครองส่วนถิ่น ร่วมลง MOU เพื่อร่วมกันผลักดันพัฒนาพื้นที่ตนเองให้เป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และเป็นชุมชนสุขภาวะที่มีความสุขกายสุขใจแบบยั่งยืน
​เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2566 ที่ลานเอนกประสงค์โรงเรียนบ้านต้นประดู่ ต.ชะรัด อ.กงหรา จ.พัทลุง และวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 ณ อาคารหอประชุมศรีพะยูน โรงเรียนมัธยมเกาะหมาก ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 5 ฝ่าย ประกอบด้วย นายประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส., นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นนาอยู่, นายสุวรรณลี ยาชะรัด นายกเทศมนตรีตำบลชะรัด อ.กงหรา จ.พัทลุง, นายนายภัคเอื้ออิชณน์ สอนสังข์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และนายมานะ ช่วยชู ผู้จัดการศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคใต้ (สำนัก 3) สสส. และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 10 แห่ง ในฐานะสมาชิกเครือข่ายของเทศบาลตำบลชะรัด ได้แก่ ทต.ลำสินธุ์, ทต.อ่างทอง, ทต.กงหรา, อบต.คลองเฉลิม, อบต.โพรงจระเข้,ทต.ปรางหมู่, อบต.ในควน, ทต.นาโหนด, ทต.ดอนประดู่ และทต.คลองทรายขาว และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 8 แห่ง ในฐานะสมาชิกเครือข่ายขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ได้แก่ ทต.ปากพะยูน, ทต.เกาะนางคํา, อบต.ฝาละมี, อบต.โคกสัก, อบต.คลองรี, อบต.หานโพธิ์, อบต.ป่าขาด และอบต.คูขุด
​นายประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. เปิดเผยว่า สสส. มีวิสัยทัศน์การทำงานชัดเจนในเรื่องการทำงานร่วมกับท้องถิ่น เพื่อหนุนเสริมการทำงาน โดยมีองค์ความรู้ เครื่องมือและกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะยึดความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจุบันเรามีเครือข่ายที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3,526 แห่ง จาก 7,000 แห่ง ทั่วประเทศ เติบโตแบบพี่น้องบอกต่อกันและกัน เกิดการทำงานร่วมกันจนเป็นเครือข่ายใหญ่ จึงเกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับต่างๆ
​สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. มีภารกิจในการจุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลัง สนับสนุนให้เกิดการนําใช้ทุนและศักยภาพ ให้เกิดการทำงานเชื่อมประสานกันระหว่างภาคีหลักในระดับพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ กลุ่มเครือข่ายประชาชน หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานพัฒนาเอกชนที่มีปฏิบัติการในชุมชน รวมถึงสถาบันการศึกษา องค์กรอิสระหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงาน ภาคเอกชน เพื่อร่วมกันกําหนดเป้าหมายในการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาวะของชุมชนท้องถิ่น โดยน้อมนําศาสตร์ พระราชาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและผลักดันนโยบายสาธารณะ พร้อม ทั้งมีบทบาทในการสนับสนุนทุนและวิธีการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
​ขณะที่ นายสุวรรณลี ยาชะรัด นายกเทศมนตรี ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง กล่าวเสริมว่า พื้นที่ของเทศบาลตำบลชะรัด และ เครือข่ายทั้ง 10 แห่ง มีศักยภาพของพื้นที่ใกล้เคียงกัน อยู่บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และมีทิวเขา ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่โดยการเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือการวิจัยชุมชน (RECAP) ระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) ที่สสส.นำมาให้ใช้ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้จะทำงานได้ลำบาก เบื้องต้นจึงชักชวนเพื่อนร่วมเครือข่ายมาร่วมกันทำเรื่องนี้ก่อนเพื่อให้ทราบต้นทุนของตัวเอง แล้วค่อยนำข้อมูลที่ได้มาขับเคลื่อนต่อ เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนร่วมกัน ทำให้เกิดสุขภาวะชุมชนเข้มแข็งแบบยั่งยืน
ด้าน นายภัคเอื้ออิชณน์ สอนสังข์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง กล่าวถึงการร่วมมือฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า อบต. เกาะหมากมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกลไกประสานเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นรอบทะเลสาบเพื่อรักษาฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พร้อมยกระดับกิจกรรมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทะเลสาบที่ทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มเติม เช่น มีการทำแนวเขตให้ชัดเจน มีการทำสัญลักษณ์ มีการทบทวนกติกาชุมชนให้เหมาะสม การปล่อย พันธุ์สัตว์น้ำ บ้านปลา การปลูกพืชพื้นถิ่นในแนวชายฝั่ง รวมทั้งการสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลา มีการส่งเสริมหลักสูตรท้องถิ่น “เกาะหมากศึกษา” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการความรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือจากภาคีทั้งภายในและภายนอกชุมชน พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนเกาะหมาก ให้มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้านการบริการการท่องเที่ยวเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่อยู่บนฐานของวิถีชีวิตและทรัพยากรลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และเพื่อให้ชุมชนได้รักษาทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไว้จนถึงรุ่นต่อๆ ไปด้วย
​ด้าน นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของทั้งสองพื้นที่ครั้งนี้ เพราะต้องการเห็นชุมชนท้องถิ่น สามารถจัดการตนเองได้ เช่น เครือข่ายทต.ชะรัดจะร่วมกันจัดการปัญหาภัยพิบัติ ส่วน อบต.เกาะหมากกับอปท.ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก็ช่วยกันจัดการกับทรัพยากรในพื้นที่ ความร่วมมือดีๆ แบบนี้จะเป็นแรงหนุนให้เกิดเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีชุมชนที่เข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้เพิ่มมากขึ้น สามารถใช้พลังและองค์ความรู้ต่าง ๆ มาพัฒนา เมื่อมีปัญหาเข้ามากระทบก็จะสามารถเอาความรู้ที่มีมาใช้ สู้กับทุกปัญหาที่เข้ามาได้ เพราะเรามีความรู้ มีวิธีที่จะจัดการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชนของเรา ได้อย่างยั่งยืน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป