13/11/2024

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีขายปันส่วนสัตว์น้ำดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐ-พลเรือนร่วมทุจริตรวม 7 ราย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีขายปันส่วนสัตว์น้ำดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐ-พลเรือนร่วมทุจริตรวม 7 ราย

จากกรณีที่ผู้แทนสหภาพยุโรป ได้ดำเนินการประเมินมาตรการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานในภาคประมงของประเทศไทย และได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีตรวจพบเรือประมงซึ่งมีพฤติการณ์ในการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ไว้ได้นำเข้าปลาที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมายมาจำหน่ายที่ประเทศไทย และถูกกรมศุลกากรตรวจยึดและดำเนินการขายปันส่วนเมื่อปี 2562 นั้น เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวเพื่อดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลให้ทราบ

กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงได้สั่งการให้ เจ้าหน้าที่สืบสวนชุดเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในภาคประมง เข้าตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวโดยละเอียด โดยให้ไล่ตรวจสอบตามลำดับเวลาการปฏิบัติแต่ละขั้นตอนโดยละเอียด และทำความจริงให้กระจ่างโดยเร็ว หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

พฤติการณ์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.62 กรมศุลกากรได้มีการตรวจยึดปลาแช่แข็งนำเข้าจำนวน 7 ตู้ ซึ่งนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านท่าเรือศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ 1 ตู้ น้ำหนัก 26 ตัน และสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพจำนวน 6 ตู้ น้ำหนัก 147 ตัน โดยเป็นปลาที่ได้มาจากเรือประมงที่มีพฤติการณ์ต้องสงสัยในการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งกรมศุลกากรได้สั่งให้ผู้นำเข้าปลาดังกล่าวมาดำเนินพิธีการขาเข้า แต่ทำไม่ได้เพราะผู้นำเข้าไม่สามารถขอใบอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำจากกรมประมงได้ เนื่องจากปลาดังกล่าวได้มาจากเรือ WADANI 2 ซึ่งไปทำการประมงที่น่านน้ำประเทศโซมาเลีย แต่ทางรัฐบาลโซมาเลียไม่ยืนยันเอกสารรับรองแหล่งที่มาสัตว์น้ำดังกล่าว เนื่องจากเรือประมงลำดังกล่าวมีพฤติการณ์ในการชักธงเรือ 2 สัญชาติ ทำให้ต้องสงสัยว่าจะมีการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พ.ย.62 กรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการขายปันส่วนปลาแช่แข็งดังกล่าวไปทั้งหมด

ต่อมาช่วงเดือน พ.ค.63 ก่อนการประชุมร่วมกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานในภาคประมงของประเทศไทย สหภาพยุโรปได้มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ปลาแช่แข็งซึ่งต้องสงสัยว่าได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย และได้ดำเนินการขายปันส่วนออกไปนั้น ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ดังนั้น กรมประมงจึงได้สอบถามข้อมูลการดำเนินการจากกรมศุลกากร กรมศุลกากรจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการในการขายปันส่วน และสรุปผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.63 โดยเสนอให้มีการลงโทษ นายกีรติ หัวหน้าฝ่ายของกลางและของตกค้าง กรมศุลกากร กรณีผิดวินัยไม่ร้ายแรงจากการไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง (อ.2) พิจารณา พร้อมรายชื่อผู้ซื้อปันส่วนจำนวน 98 ราย

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 หลังจากคณะอนุกรรมการ อ.2 ได้ตรวจสอบตามรายงานที่ได้จากกรมศุลกากรแล้ว ได้มีการส่งประเด็นให้กรมศุลกากรตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายชื่อผู้ซื้อปันส่วนทั้ง 98 รายและขั้นตอนการปันส่วน เนื่องจากพบว่า มีบางรายชื่อที่ถูกกล่าวอ้างแต่ไม่ได้มีการลงชื่อปันส่วนจริง กรมศุลกากรจึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง แต่การตรวจสอบในครั้งนี้กลับไม่นำเอาผลการตรวจพบรายชื่อที่ไม่ได้ลงชื่อปันส่วนมาตรวจสอบด้วย และเร่งสรุปผลกลับมายังคณะอนุกรรมการ อ.2 ในวันที่ 8 มิ.ย.65 โดยเสนอให้มีการลงทัณฑ์ภาคทัณฑ์ นายกีรติฯ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ในขณะนั้น หลังได้รับทราบเรื่องดังกล่าว จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในภาคประมง ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จากการสืบสวนพบว่า หลังจากที่กรมศุลกากรได้อนุมัติให้มีการขายปันส่วนปลาแช่แข็งทั้งหมด 7 ตู้นั้น ได้ดำเนินการขายปันส่วนตามขั้นตอนจริงจำนวน 1 ตู้ ซึ่งดำเนินการโดยด่านศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ ในส่วนอีก 6 ตู้ ที่ถูกตรวจยึดที่สำนักศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ รวมน้ำหนัก 147 ตันนั้น ก่อนจะมีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขายปันส่วนปลาดังกล่าวในวันที่ 7 พ.ย.62 นั้น ได้มีการเจรจาแบ่งผลประโยชน์กันหลายฝ่าย โดยได้มีวางแผนการถ่ายภาพจัดฉากให้เสมือนว่า มีการจำหน่ายปันส่วนจริงจำนวน 15 ตัน ให้กับนายบุญมา ผอ.ศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯในขณะนั้น จำนวน 10 ตัน และนายกีรติฯ จำนวน 5 ตัน แต่กลับไม่มีการจ่ายเงินแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในส่วนของปลาแช่แข็งที่เหลืออีก 132 ตันนั้น ได้มีการจัดหาผู้เหมาซื้อปลาแช่แข็งดังกล่าวเพียงรายเดียวคือ น.ส.ชญาภรณ์ เอเย่นรับซื้อขายปลา เพื่อจำหน่ายปลาให้แต่เพียงเจ้าเดียวทั้งหมด และได้จัดทำรายชื่อผู้ขอซื้อปันส่วนปลาจำนวน 98 รายขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบให้ครบกระบวนการ โดยน.ส.ชญาภรณ์ฯ ได้นำเงินมาชำระค่าปลาแช่แข็งเพื่อเข้าตามระบบจำนวน 1.859 ล้านบาท และมีการมอบเงินให้กับนายกีรติฯ ส่วนตัวอีก 871,000 บาท จากนั้นจึงรับปลาแช่แข็งดังกล่าวไปจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วไปจนหมด
นอกจากนี้ จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงที่มีการตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวของกรมศุลกากร พบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ มีพฤติการณ์เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือให้นายกีรติฯ รับโทษทางวินัยน้อยลงจากพฤติการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจึงได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด นำเสนอผู้บังคับบัญชาทราบ และได้มอบหมายให้ชุดปฏิบัติการคณะทำงานฯ ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรที่เป็นผู้ตรวจสอบกรณีของนายกีรติฯ ที่ สน.ท่าเรือ แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมายซึ่งเป็นนโยบายสำคัญระดับชาติ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรับผิดชอบคดีดังกล่าว โดยได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 7 ราย ประกอบด้วย
1. นายกีรติ หัวหน้าฝ่ายของกลางและของตกค้างฯ ทำหน้าที่หัวหน้าการขายปันส่วนสัตว์น้ำ
2. น.ส.สุดารัตน์ กรรมการขายปันส่วนสัตว์น้ำ
3. น.ส.ปานวาด กรรมการขายปันส่วนสัตว์น้ำ
ดำเนินคดีในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของงตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
4. น.ส.ชญากรณ์ เป็นผู้สนับสนุนการทุจริตขายปันส่วนโดยการเหมาซื้อโดยผิดขั้นตอน
5. นายบุญมา ผอ.สง.ศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯ/เป็นผู้รับซื้อปลาแต่ไม่ชำระเงินเข้าระบบ
ดำเนินคดีในความผิดฐาน เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของงตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และสนับสนุนการกระทำผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
6. นางนฤมล นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมศุลกากร/ผู้ตรวจสอบนายกีรติฯ
7. นายรัฐกรณ์ นิติกร กรมศุลกากร/ผู้ตรวจสอบนายกีรติฯ
ดำเนินคดีในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ทางสหภาพยุโรปให้ความสนใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการบังคับใช้กฎหมายในคดีดังกล่าว เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำที่มาจากเรือประมงต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์ชักธงเรือ 2 สัญชาติ นับเป็นการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ดังนั้นทางการสหภาพยุโรปจึงให้ความสนใจกับการดำเนินการของประเทศไทยในกรณีดังกล่าว จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างละเอียดจนพบว่า การขายปันส่วนสัตว์น้ำดำเนินการโดยทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อมาภายหลังแม้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว ก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากกรรมการเพื่อมิให้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา ดังนั้นเมื่อตรวจพบการกระทำผิดดังกล่าว จึงให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเด็ดขาด เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการดำเนินคดีลักษณะดังกล่าว และส่งสัญญาณให้นานาชาติเห็นว่า ประเทศไทยไม่สนับสนุนการทำประมงผิดกฎหมายในทุกกรณี และขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน หากมีเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทุจริตในคดีนี้ สามารถแจ้งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ผ่านหมายเลข 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป