23/12/2024

กาฬสินธุ์เปิดปมเส้นทางนายทุนเลี้ยงหมูส่อใช้ช่องว่างทางกฎหมายเอาเปรียบชาวบ้าน

6

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ เผยนายทุนที่เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงหมู “เกษตรพันธสัญญา” จนเป็นต้นเหตุปัญหาส่งกลิ่นเหม็นกระทบชุมชน และเพิ่มภาระหนี้สินให้ชาวบ้าน ไม่ได้แจ้งหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดร่วมตรวจรายละเอียดในสัญญา ขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบชี้ นายทุนอาศัยช่องว่างทางกฎหมายทำสัญญา ด้านทนายความประจำสำนักงานยุติธรรมพร้อมยื่นมือช่วยเหลือ หากร้องขอมา


จากกรณีชาวบ้านใน ต.สหัสขันธ์ และต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดหัวปวดประสาทและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ล่าสุด! ทนายความประจำสำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ สะกิดต้นตอปัญหามาจากนายทุน “ปกปิด” ข้อเท็จจริง ชวนชาวบ้านร่วมลงทุนกู้เงิน ธกส. จนเป็นเหยื่อ ในรูปแบบ “เกษตรพันธสัญญา” ในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยง แต่ “สภาพจริง” รับภาระหนี้ก้อนโต ขอความร่วมมือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเชิงลึกในสัญญา ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น


ล่าสุด วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีฟาร์มขี้หมูเหม็นที่เอกชนรายใหญ่เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยง ในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ จนเกิดปัญหาร้องเรียนเนื่องจากส่งผลกระทบด้านกลิ่นเหม็น ยังเป็นประเด็นที่ชาวบ้านและส่วนราชการทั่วไป วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง ในขณะเดียวกันยังเกิดข้อสงสัยว่ามีการตั้งฟาร์มเลี้ยงได้อย่างไร มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ ถึงได้เกิดเป็นปัญหานี้ขึ้นมาจนลุกลามใหญ่โต โดยเฉพาะทำให้ชาวบ้านในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยง 8 ราย ต้องเป็นฝ่ายกู้เงิน ธกส.และตกเป็นลูกหนี้ก้อนใหญ่ รวมเป็นวงเงินกว่า 50 ล้านบาท


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว ได้สอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากทนายความประจำสำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ว่า อาจจะมีความชัดเจนว่า เอกชนรายใหญ่เข้ามาส่งเสริมเลี้ยงหมูได้อย่างไร ถึงทำให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นกระทบชุมชน เส้นทางการเข้ามาถูกต้องหรือไม่ และที่สำคัญอีกประการคือ มีการลงรายละเอียดในสัญญาชัดเจนแค่ไหนเพียงใด จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายด้าน และชาวบ้านต้องรับภาระหนี้ก้อนใหญ่ดังกล่าว


นายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมทีก่อนที่เอกชนจะเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านร่วมลงทุน ในระบบเกษตรพันธสัญญา เช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จะนำร่างสัญญามาให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้ร่วมกันตรวจสอบเนื้อหาสาระ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ระยะหลังๆมานี้ ไม่พบว่าเอกชนจะเข้ามาประสานงานเลย พอเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือเกษตรกรเอง ส่วนราชการจึงทราบเรื่อง และส่วนใหญ่มีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ


ด้านนายปณต กลิ่นเชิดชู นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาฟาร์มเลี้ยงหมูที่ อ.สหัสขันธ์ดังกล่าว เอกชนที่เข้ามาส่งเสริมเลี้ยงหมู และเกษตรกรที่ร่วมโครงการไม่ได้นำร่างสัญญามาแจ้งกับทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เนื่องจากเอกชนรายดังกล่าว มีการกำหนดวัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจ ยื่นจดแจ้ง พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญากับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรที่กรุงเทพฯแล้ว ในส่วนที่ว่าเอกชนรายดังกล่าว จะร่างสัญญากับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วยข้อความใด อย่างไรบ้าง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนราชการไม่สามารถเข้าไปดูได้ เว้นเสียแต่ว่าจะนำสัญญานั้นมาปรึกษาหารือ หรือหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา ฝ่ายผู้เสียหายก็นำสัญญานั้นมาให้ช่วยตรวจสอบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือต่อไป


อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านถ้ำปลาผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากกลิ่นขี้หมูเหม็นและภาระหนี้สิน ตั้งข้อสังเกตว่าระบบเกษตรพันธสัญญา โดยนายทุนที่มาส่งเสริม ไม่ได้นำร่างสัญญามาให้ส่วนราชการร่วมตรวจสอบ จากนั้นเชิญชวนชาวบ้านทำสัญญาเลี้ยงหมู โดยชาวบ้านในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยง และต่อมาทำให้ผู้รับจ้างเลี้ยงกู้เงิน ธกส.มาลงทุนเป็นจำนวนมากนั้น เป็นประเด็นที่น่าสงสัยว่าสัญญานั้น ผู้รับจ้างเลี้ยงได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนมีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาใช้กับชาวบ้าน ขณะที่ชาวบ้านที่ร่วมโครงการก็ไม่ได้เข้ามาปรึกษาแต่อย่างใด จึงเป็นปมปัญหาและสังคมกำลังจับตามองว่า ชาวบ้านจะตกเป็นเหยื่อนายทุนหรือไม่ ทั้งนี้ ทนายความประจำสำนักงานยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ก็พร้อมยื่นมือช่วยเหลือ หากชาวบ้านร้องขอมา

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป