22/11/2024

เชียงใหม่-ททท. จัด FAM Trip พาย้อนรอย ตำนานงานช่าง คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง

ททท. จัด FAM Trip พาย้อนรอย ตำนานงานช่าง คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง ผ่านเส้นทางแห่งภูมิปัญญา 200 ปี จากหอกลางเวียง ผ่านจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดที่สำคัญของเชียงใหม่ สู่ตำนานงานช่าง คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง โดยเชื่อมโยงสีสันวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนล้านนา จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ในวันที่ 9-10 มิถุนายน 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัด FAM Trip ร่วมกับชุมชนบ้านเหมืองกุง ในเส้นทาง “ตำนานงานช่าง : คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง” สายช่างศิลป์แห่งเชียงใหม่ เชื่อมโยงวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาจากหอกลางเวียง วัด สู่อุตสาหกรรมชุมชนที่สืบทอดกันมานานกว่า 200 ปี ณ ชุมชนบ้านเหมืองกุง ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ที่เป็นแหล่งผลิตทั้งน้ำต้น คนโทใส่น้ำดื่ม น้ำหม้อ และหม้อปูรณฆฏะ หรือหม้อดอก ที่ไม่เป็นเพียงแค่แจกันดอกไม้ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยเส้นทางสายนี้ ออกแบบให้เชื่อมโยงจากพิพิธภัณฑ์ – วัด – ชุมชน ภายใต้โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทรัพย์สิน ททท. โดยความร่วมมือระหว่าง ททท. และกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเหมืองกุง

เส้นทางตำนานงานช่าง คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง

จุดที่ 1 เริ่มจากหอกลางเวียง (หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่) บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยล้านนา ผ่านช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง ทั้งศิลปะวัฒนธรรม จิตวิญญาณ และผู้คน เชื่อมโยงกับการนำเครื่องปั้นดินเผามาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งกษัตริย์ล้านนา และประชาชนทั่วไป

จุดที่ 2 ออกตามหาเครื่องปั้นดินเผาบนจิตรกรรมฝาผนังในวัดเก่าแก่ โดยเริ่มจากวัดเชียงมั่น อารามหลวงแห่งแรกของเชียงใหม่ เมื่อพญามังรายสร้างเวียงกว่า 700 ปี โดยมีสถาปัตยกรรมล้านนายุครุ่งเรือง ภาพเขียนลายคำในพระวิหาร และยังปรากฎคนโทน้ำต้น และภาชนะดินเผาต่างๆ บอกถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันของชาวล้านนา

จุดที่ 3 พระวิหารวัดพันเตา ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดของล้านนา โดยเฉพาะหน้าบันแกะสลักรูปนกยูงยืนเหนือตัวมอมเป็นฝีมือช่างราชสำนัก รวมทั้งพระวิหารที่สร้างจากหอคำหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เมื่อ 150 ปีก่อน

จุดที่ 4 วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ไม่เพียงเป็นวัดหลวงกลางเวียง หากยังเป็นที่ตั้งองค์พระธาตุเจดีย์ที่สูงใหญ่ที่สุดของล้านนายุคทอง ก่อนจะพังทลายลงเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา และวัดเจดีย์หลวงได้รับการบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งตอนต้นรัตนโกสินทร์ พร้อมกับปลูกต้นยางนาสูงใหญ่เป็นไม้หมายเมือง

จุดที่ 5 วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) สร้างขึ้นตามคตินิยมแบบล้านนา งดงามลงตัวทั้งภูมิสถาปัตย์ และหมู่อาคาร ประกอบด้วยพระวิหารกระทัดรัด ศาลาจตุรมุข และศาลาราย สำหรับคณะศรัทธาในเทศกาลนมัสการองค์พระธาตุจอมทอง

จุดที่ 6 ชุมชนบ้านเหมืองกุง แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษชาวไทเมืองปุ เมืองสาด ยาวนานกว่า 200 ปี ที่ได้ชื่อว่า ตำนานคนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง โดยสามารถเดินชมวิถีชีวิตของชุมชนที่ยังคงดำเนินการปั้นดินเผาส่งออกตามวิถีประเพณีของชาวล้านนา และอุตสาหกรรมตกแต่งบ้าน พร้อมกับเยี่ยมเยียนสล่าผู้ทรงคุณค่าทางด้านการปั้น และร่วมกิจกรรม workshop ของชุมชนที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสการปั้นแบบดั้งเดิม ที่เรียกว่าการปั้นจ้าก หรือการปั้นหม้อด้วยแป้นมือหมุน โดยมีสล่ามาสอนกรรมวิธีอย่างเป็นกันเอง

นายบุญส่ง คุ้มบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง “ตำนานงานช่าง : คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง” ในครั้งนี้ มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นการประชาสัมพันธ์การพัฒนาต่อยอด เชื่อมโยงเส้นทาง และสร้างการรับรู้วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญา ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจถึงความเป็นมาของงานเครื่องปั้นดินเผาในเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อีกทั้งเส้นทางนี้ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการของชุมชนบ้านเหมืองกุง รวมถึงกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวจากใจกลางเวียงสู่ย่านชานเมือง โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” ทั้งนี้ เส้นทางท่องเที่ยวตำนานงานช่าง คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง จะถูกนำเสนอขายผ่านบริษัททัวร์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และแพลตฟอร์มท่องเที่ยว รวมถึงประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง

หากผู้ที่สนใจเฉพาะโปรแกรมท่องเที่ยวของชุมชนบ้านเหมืองกุง ซึ่งเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป และครอบครัวที่มีเด็กเล็ก โดยมีกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งยังช่วยฝึกสมาธิ และพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กได้อีกด้วย ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชม ซื้อเครื่องปั้นดินเผาไปใช้งานจริง หรือเป็นของที่ระลึก รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมเวิร์กชอป โดยสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ facebook fan page : https://facebook.com/Clayprodcts หรือโทร. 084-389-6615

 

วิภาดา/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป